'โนเกีย' ชิมลางมุ่งปั้นนักพัฒนารุ่นเยาว์จับมือมหาวิทยาลัยรังสิต ค้นหา 10 ไอเดียสร้างแอปฯวินโดวส์ โฟน 8 พร้อมต่อยอดออกสู่ตลาดโลก รอดูผลตอบรับก่อนขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นในอนาคต ตั้งเป้าค้นหานักพัฒนาคุณภาพมากกว่าปริมาณ ด้านม.รังสิตเผยนักศึกษาจบใหม่ไม่ทนงานหนัก นายศรีคานธ์ ราชู หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาและระบบนิเวศน์การสื่อสารไร้สาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โนเกีย กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนนักพัฒนาของโนเกียว่า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆคือ นักพัฒนาในส่วนของ โนเกีย ลูเมีย ภายใต้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน 8 ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือแพลตฟอร์มของ โนเกีย อาช่า ภายใต้ระบบ S40 เดิม ที่พัฒนาขึ้นมาให้มีความสามารถใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟน โดดเด่นในแง่ของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบบีบอัดข้อมูล รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กได้รวดเร็ว โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ราคาต่ำกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆในตลาด
"เรายังให้ความสำคัญกับทั้ง 2 กลุ่มเท่าๆกัน แม้ว่าจะเห็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของลูเมีย แต่ก็ยังมีผู้ใช้งานอีกจำนวนมากที่รอความสามารถเพิ่มเติมของ อาช่า ซึ่งผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่มก็จะคาดหวังในตัวแอปพลิเคชันที่แตกต่างกันไป"
ภารกิจหลักของฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกัน คือ การค้นหาว่าผู้บริโภคต้องการใช้งานแอปพลิเคชันใด และพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกส่วนหนึ่งคือการประสานงานกับนักพัฒนา ในการสร้างความมั่นใจว่าเมื่อพัฒนาแล้วจะก่อให้เกิดรายได้ ผ่านกระบวนการแนะนำแอปฯต่างๆ หรือการแนะนำแอปฯให้เหมาะสมกับตลาดทั่วโลก
นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิศศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนา บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทย โนเกีย ร่วมมือกับทั้งนักพัฒนาหน้าใหม่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการจัดโครงการ My First App เฟ้นหานักพัฒนาแอปฯวินโดวส์ โฟน 8
"โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการให้นักศึกษาเสนอไอเดียในการพัฒนาแอปฯ เพื่อคัดเลือก 10 ความคิดสร้างสรรที่ดีที่สุดมาพัฒนาต่อยอดไปจำหน่ายในสโตร์ โดยภายในโครงการจะรวมถึงการให้เครื่องนักศึกษายืมไปพัฒนา สนับสนุนทางด้านเทคนิค และทีมที่ได้มียอดดาวน์โหลดสูงสุด จะได้รับโอกาศไปดูงานที่ศูนย์พัฒนาและวิจัยของโนเกีย ที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชาชนจีน"
ส่วนเป้าหมายหลักของฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนา ในประเทศไทย จะเน้นไปที่การเพิ่มคุณภาพของแอปฯจากนักพัฒนามากกว่าในแง่ของปริมาณแอปพลิเคชันที่จะออกมาในท้องตลาด รวมกับการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆให้มากขึ้น
การที่โนเกียเลือก ม.รังสิต เป็นสถานที่แรกในการเริ่มโครงการนี้ เนื่องมาจากมองว่าสามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในอนาคตถ้าโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ดีก็พร้อมที่จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆต่อไป
ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เกษมสันต์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า ในม.รังสิตจะมีการเปิดศูนย์บ่มเพาะเพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่ต้องการเรียนรู้และพัฒนาได้ ซึ่งจุดที่พิเศษของความร่วมมือคือ การให้ความร่วมมือจากโนเกีย ทั้งในแง่ของอุปกรณ์ การสนับสนุนทางด้านเทคนิค ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนจบออกไปเพื่อทำธุรกิจทางด้านโมบายแอปพลิเคชันได้ทันที
ขณะเดียวกันยังให้ความเห็นว่าบุคลากรทางด้านไอทีที่จบใหม่ออกไปกว่าปีละ 1 แสนรายว่า ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และส่วนหนึ่งของนักพัฒนาเหล่านี้ไม่ค่อยมีความอดทนในการทำงาน เนื่องจากเห็นว่าตลาดมีความต้องการสูง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนงานบ่อย และเลือกไปยังบริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
Company Relate Link :
Nokia
ที่มา: manager.co.th