นางสาวปัทมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจในปีการเงิน 2552 ไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านไป ธุรกิจซอฟต์แวร์ของบริษัทฯ เติบโตมากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในตลาดที่อยู่ประมาณ 9-10% โดยปัจจัยที่ทำให้ไมโครซอฟท์มีการเติบโตได้ขนาดนี้ มาจากความร่วมมือที่ดีของพันธมิตรคู่ค้าในการทำตลาด อีกทั้งในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกภาคส่วนต่างต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่า อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์ยังมีความเชื่อว่า ยังมีโอกาสทำธุรกิจอยู่เสมอ เพียงแต่จะต้องค้นหาให้เจอ แล้วต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
กก.ผจก.บริษัทไมโครซอฟท์ฯ กล่าวถึงกลยุทธ์ในปี 2552 ว่า ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์มุ่งเสนอแนวคิดการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเสริมประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน และสร้างความสำเร็จในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ในการดึงเอาศักยภาพและจุดเด่นมาเสริมกัน เหมือนกับที่บริษัทฯ ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ สถาบันการศึกษา สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น แนวทางในปี 2552 ไมโครซอฟท์ยังคงเน้นการนำเอาจุดแข็งฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี มาเป็นที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ และก้าวมาเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
นางสาวปัทมา กล่าวต่อว่า ไมโครซอฟท์จะเข้าไปเสริมประสิทธิภาพใน 3 กลุ่มหลัก คือ ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อนำเอาเทคโนโลยีไปเพิ่มขีดความสามารถ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความร่วมมือ โดยในปี 2551 ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้เข้าไปร่วมในโครงการ Industrial Gateway” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นำระบบไอทีมายกระดับการทำงานให้ทันสมัย สร้างช่องทางหลักในการเข้าถึงข้อมูลอุตสาหกรรมของไทย ทำให้การทำงานของกระทรวงฯ ดูทันสมัยมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ได้ เพิ่มความสะดวก และความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุน ที่จะเกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลมากขึ้น
กก.ผจก.บริษัทไมโครซอฟท์ฯ กล่าวถึงโครงการ “iCafe” ว่า อีกโครงการที่สำคัญในการขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี คือ โครงการ “iCafe” ที่เกิดจากไมโครซอฟท์ และ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอินเทอร์เน็ต และร้านเกมทั่วประเทศ เนื่องจากผลการสำรวจร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศพบว่า ร้านส่วนมากต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนให้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ได้รับภัยคุกคามต่างๆ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจจับ อีกทั้งยังต้องการเปลี่ยนความคิดของคนที่มองว่า อินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นที่มาเล่นเกมออนไลน์
นางสาวปัทมา กล่าวด้วยว่า โครงการ iCafe ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำโปรโมชันซอฟต์แวร์ราคาพิเศษเท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของโปรแกรมการเรียนรู้ และดิจิตอลคอนเทนท์อื่นๆ เพิ่มเข้ามา โดยจะเป็นการส่งเสริมให้คนเข้าถึงการใช้ไอทีมากขึ้น รวมถึงยังพัฒนาการเรียนของเยาวชน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ทำธุรกิจให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากผู้ประกอบการทุกราย ต่างต้องการทำให้ธุรกิจทำอย่างถูกต้อง ขณะนี้ มีร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศรวมกว่า 4,000 ร้านแล้ว ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะทำให้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป
ที่มา:
http://www.thairath.co.th