Author Topic: เกาหลี ฟีเวอร์ : แค่เรื่องฟลุคๆ หรือการจัดการที่ดี  (Read 1429 times)

0 Members and 2 Guests are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

...ก็แค่กระแสเท่านั้นแหละว้า เห่อตามๆ กันไป เดี๋ยวก็เลิก
        ...ดูสิ หมดมุกแล้ว เดี๋ยวนี้ซีรีส์มันก็น้ำเน่าพอๆ กับละครไทยนั่นแหละ
        ...เออ...แต่มันก็อยู่นานเหมือนกันนะ
        ...โคตรจะรำคาญทรงผมกับเสื้อผ้ามันเลยว่ะ
        ...มันจะแอ๊บแบ๊วทำตาโตกันไปถึงไหนวะ
       
        เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านประโยคในทำนองนี้มาแล้วภายใต้เงื่อนไขหากวงสนทนาที่ว่านั้นๆ ตั้งประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง "เกาหลี ฟีเวอร์" ที่กำลังระบาดอยู่ในบ้านเรา ณ ช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น นักร้อง ดารา ซีรีส์ แฟชั่นการแต่งกาย ทรงผม หรือแม้กระทั่งเรื่องของอาหารการกิน
       
        อะไรคือสูตรความสำเร็จของการสร้างความนิยมนี้ขึ้นมา? สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแค่เรื่องของ "กระแส" และ "ความเห่อ" ตามประสาวัยรุ่น ซึ่งอีกไม่นานก็จะล้า และมีแฟชั่นใหม่ให้เด็กไทยได้คลั่งไคล้กันต่อไปใช่หรือไม่?
        ...
       หอก 1 ซีรีส์หนัง+ท่องเที่ยว
        แม้จะเปิดประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานกว่า 50 ปีในด้านการทูต แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วความเป็น "เกาหลี" เพิ่งจะมาบูมเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยในช่วงระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง
       
        หัวหอกแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทิ่มเปิดประตูก่อนที่วัฒนธรรมเกาหลีจะไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยคงจะต้องย้อนกลับไปในราวๆ ปีสองพันห้าร้อยสี่สิบกว่าๆ หลังฟรีทีวีบ้านเราได้นำซีรีส์หลายต่อหลายเรื่องของเกาหลีเข้ามาฉายกันอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่หลายช่องต้องจัดช่วงเวลาให้กับซีรีส์ดังกล่าว อาทิ All About Eve, Miss Mermaid, Phoenix, Autumn Tale, Truth, LOVING YOU, Ireland, Full House, Coffee Prince One Fine Day, Love story in Harvard, My Lovely Sam-Soon, The Great Jang Geum, Hello God ฯลฯ
       
        หลังซีรี่ส์ได้รับความนิยมไม่นาน ภาพยนตร์เกาหลีก็เริ่มที่จะเข้ามาเปิดตลาดในโรงภาพยนตร์และตามร้านเช่าวีซีดีมากขึ้น ส่งผลให้ดารา อย่าง จวน จี ฮุน, คิม แต ฮี, ลี ยอง เอ, วอน บิน, ฮัน กา อิน, ซอง เฮ เคียว, คิม ฮี ซอน, จุง วู ซุง, โซ จี ซบ,ฮยอน บิน , ลี บยอง ฮุน, ซอน เย จิน, ฮัน เย ซุล, คิม ฮเย ซู, แจง ดอง กัน, โจ อิน ซุง, จุง จี ฮุน ( เรน ), แบ ยอง จุน, ซอง ซึง ฮอน กลายเป็นที่คลั่งไคล้นิชมชมชอบของบรรดาหนุ่มและสาวไทย
       
        ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากในเรื่องของประเด็นความรักแล้ว สิ่งที่เกาหลีพยายามจะฝังลงไปในซีรีส์ของตนเองก็คือเรื่องของประวัติศาสตร์และการพยายามถ่ายทอดให้คนในชาติไม่ลืมว่ากว่าที่ประเทศตนเองจะก้าวขึ้นมาถึงวันนี้ได้ต้องผ่านช่วงเวลาที่หดหู่และเจ็บปวดมากน้อยเพียงใดอันเป็นการตอกย้ำเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง
       
        อย่างไรก็ตามนอกจากจะได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำจากการขายลิขสิทธิ์บวกรวมเข้าไปกับการมาโชว์ตัวของดาราเกาหลีในบ้านเราแล้ว อีกภาคธุรกิจหนึ่งหนึ่งที่แฝงเข้าในซีรีส์และภาพยนตร์ได้อย่างแนบเนียนมากๆ ก็คือเรื่องของการการท่องเที่ยว ซึ่ง ณ ปัจจุบันต้องบอกว่าเป็นที่นิยมของนักเที่ยวไทยรวมถึงชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง
       
        โดยนอกจาก "แดจังกึม" ที่ทำให้มีการจัดทัวร์ประเภทตามรอยแดจังกึมเพื่อดูสถานที่ถ่ายทำต่างๆ แล้ว ซีรีส์อย่าง My Lovely Sam-soon ในปี 2005 ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็มีส่วนผลักดันที่ทำให้การท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์(หรือแม้กระทั่งกระแสความนิยมทานอาหารเกาหลีในไทย)กลายเป็นที่นิยมขึ้นมา ทั้งในเกาหลีเองและที่บ้านเรา
       
        เนื่องจากในซีรีส์ที่ว่านี้มีสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ COEX, ภัตตาคาร Todai Bon Appetit ซึ่งเปิดใหม่ภายใต้ชื่อว่า TODAI ภัตตาคารสาขาซูชิบุฟเฟต์, คลับ Live Jazz : Once in a Blue Moon (มีละครหลายเรื่องมาใช้โลเกชั่นนี้ อาทิ Lovers in Paris, Wolf, Green Rose, และ Marrying the Mafia) ร้านเบเกอรี่ไฮโซ Duchamp, ภัตตาคาร Neurige Geotgi, วัด Jingwansa, ร้านหนังสือ Gwanghwamun Youngpoong, Guesthouse, Rakgojae, Mt. Namsan เคเบิ้ลคาร์ ฯลฯ โดยสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ถูกบรรจุลงในโปรแกรมทัวร์ของหลายๆ บริษัทนำเที่ยว
       ...
       หอก 2 เพลง+แฟชั่น
        ในระหว่างการรุกคืบของซีรีส์และภาพยนตร์ อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ทางด้านเอ็นเตอร์เทนที่เกาหลีส่งเข้ามาในบ้านเราพร้อมๆ กัน ก็คือภาคของเสียงเพลง ที่ในระยะแรกต้องยอมรับว่าการยอมรับในบ้านเรานั้นยังน้อยหากเทียบกับศิลปินเพื่อนบ้านอย่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีตลาดที่กว้างและแข็งกว่า
       
        ทว่าเกาหลีใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถทำให้เกิดศิลปินไทยประเภทสาขาเกาหลีเกิดขึ้นมากมาย
       
        ปัจจุบันนักร้องเกาหลีที่เป็นที่รู้จักของบ้านเราก็อาทิยุคบุกเบิก อย่าง ดง บัง ชิน กิ (Dongbangshinki) ที่เคยมาเยือนไทย ในคอนเสิร์ต "TVXQ! Rising Sun Live in Bangkok 2006" ณ อิมแพคอารีนา เมื่อ 15 กันยายน 2549 โดยมีคนดูร่วม 13,000
       
        แต่หลังจากพวกเขาไปเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นชื่อของดง บัง ชิน กิ ในบ้านเราก็ค่อยๆ ซาไปโดยมีรุ่นน้องอย่าง Super Junior ที่ว่ากันว่ามีแฟนคลับในไทยเยอะมากที่สุดขึ้นมาแทน นอกจากนี้ก็ยังรวมไปถึง Big Bang , Rain ส่วนทางฟากฝ่ายหญิงก็มี So Nyeo Shi Dae, Girls' Generation (SNSD) และที่กำลังฮิตในบ้านเรามากๆ ในตอนนี้ก็คือ 5 สาว Wonder Girls กับเพลง Nobody
       
        นอกจากในเรื่องของความสามารถแล้ว ลูกเล่นเพื่อให้แฟนคลับจดจำได้ของศิลปินเกาหลีก็คือการใช้สีประจำวงเพื่อสร้างสัญลักษณ์ อาทิ Super Junior สีประจำวงคือ สีน้ำเงินมุก หรือ สีน้ำเงินมรกต (Sapphire Blue) Rain สีประจำตัวคือ สีเงิน Wonder Girls สีประจำวงคือ สีแดงเลือดหมูหรือสีไวน์แดง (Pearl Burgundy) SNSD สีประจำวงคือ สีชมพู ใช้ลูกโป่งรูปหัวใจ ส่วน Big Bang ไม่มีสีประจำวงเพราะพวกเขาไม่คิดว่าตนเองคือบอยแบนด์ แต่แท่งไฟที่ใช้ในคอนเสิร์ตของเขาก็จะสีเหลืองซึ่งมีลักษณะเฉพาะ
       
        เช่นเดียวกับบรรดาแฟนคลับของศิลปินเหล่านี้ต่างก็มีชื่อเรียกที่เก๋ไก๋แตกต่างกันออกไป อาทิ Super Junior วงนี้เรียกแฟนคลับว่า เอลฟ์ (E.L.F.) ย่อมาจาก Everlasting Friend ที่แปลว่า "เพื่อนกันตลอดกาล", แฟนคลับของ Big Bang จะถูกเรียกว่า V.I.P ย่อมาจาก very important person บุคคลที่สำคัญมากๆ และยังเป็นศัพท์เฉพาะของชาวฮิปฮอปที่ VIP มีความหมายแปลว่า "เพื่อน" ด้วย
       
        Wonder Girls มีชื่อเรียกแฟนคลับว่า Wonderful ส่วนแฟนคลับของ Girls' Generation จะเรียกตัวเองว่า ชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับ Sne (โซวอน หรือโซวัน ) มาจากคำว่า S (So nyeo shi dae) + one มีความหมายถึง โซชิ และ แฟนคลับรวมกันเป็นหนึ่ง ตั้งชื่อนี้เมื่อตอนฉลองครบรอบ 1 ปีที่ snsd เดบิวต์
       
        นอกจากเรื่องของเสียงเพลงทางด้านดนตรีแล้ว สิ่งที่นักร้อง ศิลปินเกาหลีนำมาด้วยก็คือเรื่องของแฟชั่นทั้งการแต่งหน้า ทรงผม การแต่งกาย หรือแม้กระทั่งการทำดวงตากลมโตด้วยการใช้คอนแทคเลนส์สีสันต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันมากในหมู่วัยรุ่นของบ้านเรา
       ...
       ฟลุค หรือการวางแผนที่ดี?
        ระยะแรกในความรู้สึกของใครต่อใครอาจจะมองว่าปรากฏการณ์แห่งความคลั่งไคล้ในความเป็นเกาหลีทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเพลง ซีรีส์ หนัง อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว แฟชั่น ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเพียงแค่กระแสที่มาเร็ว มาแรง และก็น่าจะหมดไปโดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่เมื่อกระแสที่ว่าสามารถอยู่ได้นาน และยังไม่มีท่าทีว่าจะจางลงไปง่ายๆ หนำซ้ำยังดูเหมือนว่าจะยิ่งเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้นไปอีก
       
        คำถามที่น่าสนใจก็คือ เป็นเพราะอะไร?
        "เราไม่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของกระแสหรือว่าความดังอะไรนะ เพราะว่ามันจะมีอายุสั้น เราอยากให้อยู่นานด้วยการพยายามเป็นสะพานที่เชื่อมโยง 2 ประเทศให้เข้าหากันมากกว่า..."
       
        คำบอกเล่าจาก Hong, Ji-Hee (ฮง-จี ฮี) หรือในชื่อไทยว่า "ตุ๊กตา" เมเนเจอร์ ไดเรคเตอร์ของบริษัท K-T-C-C (Korea Thailand Communication Center) หนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญต่อการไหลเข้ามาของวัฒนธรรมเกาหลีสู่ประเทศไทย
       
        ก่อนที่จะมารับหน้าที่ดังกล่าวเธอคือนักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาศึกษาอยู่ที่ประเทศไทยทั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงรับหน้าที่เป็นล่ามให้กับรัฐบาลเกาหลี
       
        "ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ แต่ว่ามาเรียนแล้วชอบประเทศไทยจริงๆ ก็เลยรู้สึกว่า อ๋อ เราอยากช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ไปเป็นล่าม แต่ก็รู้สึกว่าเป็นล่ามอย่างเดียวไม่พอ"
       
        KTCC จะทำงานร่วมกับภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยว รวมถึงกระทรวงต่างๆ และบริษัทภาคเอกชน ทั้งไทยและเกาหลี ในการเป็นตัวกลางประสานงาน ทั้ง ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ หนัง ริงโทน การดึงดารา นักร้อง ศิลปิน รายการทีวี หรือแม้กระทั่งเรื่องของการท่องเที่ยวจากประเทศเกาหลีเข้ามาโปรโมตในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะขายสิ่งเดียวกันของไทยที่ประเทศเกาหลีด้วย
       
        "ช่วง 6 ปีที่แล้วเราเชิญดารามาร่วมกับททท. ดาราที่ผ่านมาก็มาจากเราหมด เราอยู่ที่นี่ก็โปรโมตเกาหลี จัดคอนเสิร์ต มีท แอนด์ กรี๊ด ทำงานร่วมกับโครงการโลกร้อน ส่วนบริษัทแม่ที่อยู่ที่โน่นก็จะพีอาร์ประเทศไทย อย่างเราเอาดาราเกาหลีมา ดาราเกาหลีคนนั้นกลับไปก็จะไปโปรโมตประเทศไทยด้วย"
       
        ตุ๊กตาบอกว่าการเปิดตลาดในไทยของเกาหลีนั้นค่อนข้างจะมาช้ากว่าประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่ามากในอดีต หรือแม้กระทั่งฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่ง ณ ช่วงเวลานี้ขณะที่คนไทยคลั่งเกาหลี คนเกาหลีเองก็ชอบเมืองไทยไม่น้อย
       
        "อย่างหนังเกาหลี ละครเกาหลี เราพยายามที่จะให้มาถ่ายที่นี่เยอะๆ ทุกคนดูแล้ว อย่างฟูลเฮ้าส์ มาถ่ายที่นี่ร่วมกับททท.กว่า 40% ถ่ายที่ภูเก็ต ปรากฏว่าดังมาก คนเกาหลีก็อยากมาเที่ยว รู้มั้ยว่าจริงๆ แล้วมีคนเกาหลีมาเที่ยวไทยมากกว่า 1 ล้าน 6 แสนคนแล้ว ขณะที่คนไทยเองไปเที่ยวเกาหลีราวๆ แค่ 6 แสนคนเอง"
       
        "ตอนนี้ที่เกาหลีเปิดร้านอาหารไทยเยอะมาก แล้วของมาจากตลาดจตุจักรเยอะมาก พิซซ่ารสต้มยำกุ้งก็มี หรืออย่างหนังเรื่ององค์บากก็ดังมากๆ ทุกคนอยากเรียนมวยไทย นักร้องก็โอเค อย่าง กอล์ฟ-ไมค์ ไอซ์ ศรัณยู คนที่นั่นก็ร้องเพลงได้ แล้วคนเกาหลีก็เรียนภาษาไทยเยอะขึ้น"
       
        สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยชื่นชอบดารานักร้องเกาหลีนั้นตุ๊กตามองว่าน่าจะเป็นเรื่องของความจริงใจ เพราะคนเกาหลีค่อนข้างจะจริงใจและจริงจังกับชีวิตเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศมีทั้งสงครามและผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวดมากมาย นอกจากนี้เรื่องส่วนตัวของศิลปินก็เป็นสิ่งที่แฟนคลับให้ความสนใจมากๆ เพราะฉะนั้นคนบันเทิงจึงต้องระมัดระวังเป็นที่สุด
       
        "ดาราเกาหลีต่อให้คุณหล่อ คุณสวย แต่ถ้าไม่เป็นคนดี ไม่รักพ่อแม่ ไม่กตัญญู ไม่รักประเทศ ผู้ชายไม่เป็นทหารแล้ว ไม่ได้เลย คนจะไม่ชอบเลย คุณจะโดนแอนตี้ทันที อันนี้สำคัญมาก คนเกาหลีร้องเพลงเก่ง หล่อขนาดไหนเรื่องส่วนตัวสำคัญมาก เรื่องครอบครัว เรื่องรัฐบาล ถ้ามีปัญหาเรื่องส่วนตัวไม่ได้เลย เพราะคุณต้องเปิดเผยอย่างมากๆ"
       
        "ที่มีข่าวฆ่าตัวตายบ่อยนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งนะ เพราะที่นั่นค่อนข้างจะจริงจัง เวลาไม่ชอบเขาก็จะไม่ชอบเลย ดาราบางคนก็ทนไม่ไหว ซึ่งมันทำให้ไม่ค่อยมีข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เท่าไหร่ เพราะดาราต้องระวังตัว เนื่องจากประชาชนจับตามองอยู่"
       
        ส่วนคำถามที่ว่าหลายคนมักจะกระแนะกระแหนถึงซีรีส์เกาหลีว่าชอบให้มีคนป่วยตายนั้น เรื่องนี้ตุ๊กตาหัวเราะก่อนตอบว่า.."ทำไมต้องตาย เพราะว่าต้องการให้ทุกคนเศร้า ค่อนข้างจะเซอร์ไพรส์ดีกว่าทะเลาะกัน ตบตีกัน หรือว่าฆ่ากันตาย คือให้เศร้าแบบธรรมชาติ เพราะว่าเกาหลีประวัติเศร้ามาก ตรงนี้อาจจะมีอิทธิพล เกาหลีเศร้าตลอด มีสงครามตลอด เรื่องก็ค่อนข้างจะเศร้า จริงจัง"
       
        ว่ากันว่าอุตสาหกรรมบันเทิงในเมืองไทยนั้นมีมูลค่ามหาศาลปีละกว่าแสนล้านแต่กลับได้รับเงินจากรัฐบาลในยุคก่อนๆ เพียงปีละ 2 พันล้าน โดยที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยบอกไว้ว่า..."อยากให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดนตรี-บันเทิง เหมือนประเทศเกาหลี ที่ใช้ ภาพยนตร์กับ ดนตรีเป็นหัวหอกในการส่งออกทางวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นเรื่องจริงมากๆ เพราะเกาหลีเองได้เล็งเห็นความสำคัญและยอมที่ทุ่มเทในการบ่มเพาะในเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนท์ภายในบ้านตนเองเป็นเวลากว่า 15 ปี ก่อนที่จะพร้อมอวดสายตาของคนข้างนอก
       
        และถึงแม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เกาหลีบูมในตลาดเอเชีย แต่ทว่าในมุมของตุ๊กตาแล้วเจ้าตัวมองว่าช่วงเวลาที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นช่วงของการกอบโกยอย่างเดียวเท่านั้น
       
        "กระแสวันธรรมหรือเอนเตอร์เทนห้ามใช่เรื่องเอนเตอร์เทนอย่างเดียวนะ ไม่เช่นนั้นก็จะจบเร็ว ต้องคิดเรื่องชาติ เราคิดถึงทั้งเรื่องในประเทศและทั้งนอกประเทศ คือถ้าเห็นว่ากระแสมาแล้วก็ขายของบวกกำไร ขายๆๆ ไม่ได้ ต้องคิดในเชิงความสัมพันธ์ที่มั่นคง"
       
        "เอเยนต์ที่ดูแลก็สำคัญ จะเอานักร้องมาขายจัดคอนเสิร์ตเปิดขายบัตร เอาดารามาขายเพื่อได้ตังค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของดารานักร้องที่มาด้วย อาจจะพูดเรื่องเกี่ยวกับสังคม ทำงานเพื่อเด็ก แล้วก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมไทยด้วย"
       
        "คือตอนนี้ในประเทศไทยเกาหลีก็เหมือนกับต้นไม้ที่มันออกผลอยู่ ซึ่งเราจะไปเก็บกินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรดน้ำพรวนดินมันด้วย ตอนนี้ลูกเยอะๆ ทุกคนกินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใส่ปุ๋ยตลอด"
       
        คงไม่ช้าเกินไปอย่างแน่นอนหากไทยเราจะเอาแนวคิดที่ว่านี้มาเป็นแบบแผนในการเผยแพร่ของดีที่ตนเองมีอยู่
       
        เพียงแต่มันคงจะสายไปแล้วอย่างแน่นอน หากยังไม่มีใครเริ่มต้นคิดเสียตั้งแต่วันนี้



ที่มา: http://www.manager.co.th/


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)