ซูซาน วิลสัน (Susan Wilson) ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกมุมโลกกับปรากฏการณ์ "นักสืบไซเบอร์ล่าแม่มด" ซึ่งล่าสุดในวงการเกมฝั่งตะวันตกก็มีประเด็นน่าสนใจเกิดขึ้นเกี่ยวกับเว็บไซต์ระดมทุนชื่อดัง "Kickstarter" ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความตั้งใจเอาผลงานมาโชว์เพื่อขอเงินสนับสนุนจากสาธารณชน ต้นเหตุของเรื่องครั้งนี้คือนักธุรกิจสาวชื่อว่า "ซูซาน วิลสัน" (Susan Wilson) ผู้เปิดโครงการระดมทุน Kickstarter ชื่อว่า "เด็ก 9 ขวบจะสร้างเกมอาร์พีจีเพื่อพิสูจน์ว่าพี่ๆของเธอคิดผิด" มีเนื้อหาเกี่ยวกับลูกสาวของเธอชื่อว่า "แมคเคนซี วิลสัน" (Mackenzie Wilson) ซึ่งต้องการเงินไปเข้าแคมป์สอนการสร้างเกมด้วยซอฟท์แวร์สำเร็จรูป "RPG Maker" และจะผลิตผลงานออกมาให้เล่นจริงหลังจากโดนพี่ชายของเธอดูถูกว่าเป็นการเสียเงินเปล่าๆ
ในทีแรก โครงการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเรื่องน่ารักของเด็กที่อยากไล่ตามความฝันในการสร้างเกมและก็มีเสียงตอบรับบริจาคเงินช่วยสนับสนุนเข้ามามาก แต่เหตุการณ์กลับเริ่มบานปลายไปใหญ่โต เมื่อโครงการของเธอที่ต้องการเงินแค่ 829 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 24,000 บาท) เป็นค่าใช้จ่ายเข้าแคมป์กลับมีเงินเข้ามามากกว่า 22,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 644,000 บาท)
ชาวเน็ตตามเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่งอาทิ Reddit NeoGAF และ 4chan ได้เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องนี้จนพบจุดน่าสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับโครงการ โดยเฉพาะเงินทุนที่มีเข้ามากอย่างผิดธรรมชาติเมื่อเทียบกับขนาดเป้าหมายเล็กๆ ซึ่งปัญหาหลายอย่างก็ดูจะอยู่ที่ตัวซูซานแม่ของเด็กคนนี้เอง
สิ่งแรกที่สะกิดใจชาวเน็ตคือวิธีตั้งชื่อและรายละเอียดโครงการบนเว็บไซต์ Kickstarter ซึ่งใช้คำคีย์เวิร์ดเนื้อหาหนักไปทางการเรียกร้องความเห็นใจต่อเด็ก บรรยายถึงความชื่นชอบในเกมอาร์พีจีและแนวอื่นๆ เรียกร้องสิทธิสตรีด้วยการยกเอาเหล่าพี่ชายมาอ้าง เป็นสูตรสำเร็จคล้ายกับพวกต้มตุ๋นชวนมากดไลค์หรือบริจาคเงินที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเน็ต และวิธีหนึ่งที่ใช้โปรโมตคือการส่งข้อความจำนวนมหาศาลผ่านทวิตเตอร์ไปยังองค์กรสิทธิสตรี ดาราคนดัง รายการโทรทัศน์และอื่นๆคล้ายกับพวกสแปม (Spam) โฆษณา
เมื่อชาวเน็ตพยายามตรวจสอบประวัติของซูซาน ประเด็นปัญหาก็ดูจะวุ่นวายขึ้นไปอีกเมื่อเธอมีอาชีพเป็นนักลงทุนในฐานะซีอีโอเจ้าของบริษัท Judgment Group และเคยทำธุรกิจจดทะเบียนจองชื่อเว็บไซต์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของคนอื่นแล้วขายปั่นราคาทำกำไรเป็นเงินหลักล้านซึ่งก็ก้ำกึ่งต่อการผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา แถมยังมีชื่อติด 1 ใน 10 นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จของนิตยสาร Fortune และเคยถ่ายรูปคู่กับนักธุรกิจระดับโลก "วอร์เรน บัฟเฟตต์" อีกด้วย
แม้จะมองว่าโครงการนี้เป็นการทำเพื่อให้กำลังใจลูกสาว แต่ตัวโครงการก็ดูจะตระเตรียมมาพร้อมเกินไปสำหรับเงินเป้าหมายเล็กๆ มีการลงรายชื่อของตอบแทนให้ผู้บริจาคทั้งหมวก เสื้อยืด แถมยังมีรางวัลให้ผู้บริจาคระดับ 10,000 เหรียญทั้งที่เธอต้องการแค่ 829 เหรียญ เมื่อรวมกับการกระหน่ำส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์ไปยังคนดังผู้มีทรัพย์สินนับล้านก็ยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้น
ชาวเน็ตยังพบโครงการระดมทุนที่น่าสงสัยอีกหลายอันของซูซานโดยเฉพาะอันหนึ่งบนเว็บไซต์ indiegogo เธอได้เสนอโครงการประดิษฐ์สินค้าแนวคิดใหม่ชื่อว่า Life Case เป็นปลอกโทรศัพท์สมาร์ตโฟนที่มีกล่องเก็บของเล็กๆในตัว ระบุว่าผู้ที่บริจาคเงินช่วยผลิตถึง 40 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,170 บาท) จะได้รับสินค้าจำนวนจำกัดล็อตแรก แต่เมื่อสืบดูแล้วกลับพบว่ามีสินค้าลักษณะเดียวกันวางขายอยู่ในเว็บอื่น ผลิตจากเซินเจิ้นในจีนและตั้งราคาขายส่งเพียง 4 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 117 บาท) ต่อชิ้น
นอกจากนี้ เหล่านักสืบไซเบอร์ยังตามไปจับผิดซูซานในจุดเล็กน้อยอย่างการอวดรองเท้าราคา 1,500 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 44,000 บาท) บนเฟซบุ็ค แต่กลับโพสต์ข้อความบอกว่าเธอมิได้ร่ำรวยอะไร มีปัญญาส่งลูกเรียนแค่โรงเรียนรัฐบาลขัดกับฐานะทางบริษัทของเธอที่ทุนจดทะเบียนสูงถึง 100 ล้านเหรียญ หรือแม้แต่ในรายละเอียดโครงการ Kickstarter ก็บอกว่าลูกสาว 9 ขวบเรียนประถม 3 ของเธอชื่นชอบเกมดรากอนเอจ 2 (Dragon Age II) และบอร์เดอร์แลนด์ 2 (Borderlands 2) ที่้ติดเรต Mature สำหรับอายุ 17 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น
ซอฟท์แวร์สร้างเกม RPG Maker ในเบื้องต้น ทางเว็บไซต์ Kickstarter มีกฏว่าจะไม่รับโครงการระดมทุนประเภทสานฝันทำอะไรส่วนตัว เอาไปซื้อของที่อยากได้หรือบริจาคการกุศล แต่โครงการนี้ก็อยู่ในข่ายเพราะมีการสัญญาว่าเด็กจะสร้างเกมจาก RPG Maker ออกมาให้เล่นจริงๆ แต่กฎสำคัญอีกข้อหนึ่งคือการห้ามโปรโมตด้วยวิธีสแปมข้อความซึ่งขณะนี้ยังเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตใช้โจมตีอยู่
เกี่ยวกับเรื่องเงิน หลักการของ Kickstarter ระบุว่าส่วนที่เกินจากเป้าหมายจะยังต้องนำไปใช้ตามโครงการที่วางไว้ โดยในอดีตก็เคยมีผู้สร้างเกมรายอื่นเอาไปเพิ่มฉาก ใส่เสียงพากย์ หรือแปลงไปลงเครื่องอื่น แต่กรณีของซูซานที่ได้มา 22,000 เหรียญจากเป้าหมายแค่ 826 เหรียญ เธอก็ยังไม่มีแผนที่จะนำไปทำอะไรต่อและบอกว่าใครมีข้อเสนออะไรก็ส่งเข้ามาได้
ปัจจุบัน กระแสเกี่ยวกับซูซานยังคงแตกเป็นหลายทางตั้งแต่ชาวเน็ตผู้โกรธแค้นมองว่าเธอเป็นนักต้มตุ๋นมืออาชีพที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายและกฎของเว็บระดมทุนต่างๆผสมกับการสร้างภาพให้ตนเองเป็นนักธุรกิจ ขณะที่อีกส่วนก็มองว่าเธอเป็นนักธุรกิจสไตล์อเมริกาธรรมดาที่อาจจะใช้วิธีจัดเต็มมากเกินไปโดยไม่ดูกาลเทศะและสภาพสังคมของเว็บ Kickstarter ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงานมากกว่าการสร้างภาพ และสุดท้ายคือกลุ่มที่มองว่าเรื่องนี้เป็นแค่คุณแม่ที่ตั้งใจทำเพื่อลูกสาวจริงๆแต่กลับถูกชาวเน็ตจิตใจคับแคบทำให้เป็นเรื่องขึ้นมา
โครงการ Kickstarter ของซูซานจะปิดกล่องรับเงินในวันที่ 19 เมษายนนี้ โดยยังคงมีการสืบข้อมูลและติดตามการเคลื่อนไหวของเธออยู่ในเว็บบอร์ดหลายแห่งและมีการสรุปสถานการณ์เป็นไฟล์ภาพสกรีนช็อตรวมกันขนาดใหญ่ สามารถเข้าไป
ชมได้ที่นี่ ข้อมูลและภาพประกอบจาก
Kotaku
NeoGAF
ที่มา: manager.co.th