“โซนี่” เปิดเกมลุยตลาดสมาร์ทโฟน หลังปีที่ผ่านมาคว้าอันดับ 2 ในตลาดแอนดรอย์โฟนจากผลสำรวจของจีเอฟเค ล่าสุดทุ่มงบ 30 ล้านบาท โปรโมต “Xperia Z” แฟลกชิปสมาร์ทโฟนในช่วงครึ่งปีแรก ไม่กังวลแม้รุ่นที่ขายไม่รับ 4G พร้อมเล็งขยายตลาดสมาร์ทโฟนต่ำกว่า 5,000 บาท โทรุ ชิมิซึ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในปีนี้ ข้อมูลจากจีเอฟเคระบุว่าจะเติบโตถึง 37% ด้วยยอดขาย 7.8 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5.4 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายหลักของโซนี่ในปีนี้คือการรักษาอันดับ 3 ในตลาดสมาร์ทโฟน และอันดับ 2 ในตลาดแอนดรอยด์โฟนไว้ พร้อมกับลดช่องว่างไปในตัว
“ปีที่ผ่านมาโซนี่ ฝั่งธุรกิจมือถือเติบโตมากกว่า 100% และในปีนี้คาดว่าจะสามารถเติบโตได้มากกว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่ 40% เน้นพิ่มไลน์สินค้าให้ครอบคลุมขึ้น จากเดิมที่เน้นในตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางถึงบน ด้วยการเพิ่มสมาร์ทโฟนในระดับต่ำกว่า 5,000 บาท เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น”
โดยในปีนี้โซนี่วางแผนที่จะวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนราว 16-17 รุ่นตลอดทั้งปีนี้ครอบคลุมช่วงราคาตั้งแต่ต่ำกว่า 5,000 บาทไปจนถึงหลัก 2 หมื่นบาท รวมกับแท็บเล็ตที่จะทยอยเข้ามาจำหน่ายเริ่มจาก Tablet Z ที่จะเข้ามาวางจำหน่ายในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม
“เดิมโซนี่ให้ความสำคัญกับตลาดกลาง-บนเป็นหลัก แต่ในปีนี้จะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนในตลาดกลาง-บนไว้ที่ 80% และตลาดล่าง 20% เพื่อให้สามารถลดช่องว่างส่วนแบ่งตลาดกับอันดับ 1 และเพิ่มช่องว่างให้มากขึ้นกับอันดับที่ 3”
ล่าสุดทุ่มงบกว่า 30 ล้านบาท สำหรับการทำตลาดแฟลกชิปสมาร์ทโฟน “Sony Xperia Z” ในช่วงครึ่งปีแรก ชูจุดเด่นสมาร์ทโฟนขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว กันน้ำกันฝุ่น พร้อมกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลที่ใช้เทคโนโลยี Exmor RS ช่วยให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ ในราคา 20,990 บาท
ส่วนในประเด็นเรื่อง Xperia Z รุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทยไม่รองรับการใช้งาน 4G นายกฤษณ์ ประพันธศักดิ์ รองผู้จัดการทั่วไป ให้ข้อมูลว่า ตลาดไทยในตอนนี้เพิ่งเริ่มมีการให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการ ทำให้ทางโซนี่มองว่ายังไม่จำเป็นต้องนำรุ่นที่รองรับ 4G เข้ามาขาย ด้วยปัจจัยสำคัญคือการทำราคาให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้ว่าเครื่องหิ้วที่รองรับ 4G จะนำเข้ามาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า
"เป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่จะแบกรับความเสี่ยงกรณีที่ซื้อเครื่องหิ้ว เพราะศูนย์บริการโซนี่ ไทย จะไม่รับซ่อมเครื่องที่ไม่ได้จำหน่าย แม้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ตาม"
ปัจจุบันโครงสร้างฝ่ายธุรกิจของโซนี่ ไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจคอนซูเมอร์ โปรเฟสชันนัล และโมบายล์ โดยมีสัดส่วนหลักอยู่ที่กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ 70% ส่วนโปรเฟสชันนัล และโมบายอยู่ที่ 30% ซึ่งจากการรุกไปในตลาดสมาร์ทโฟนมากขึ้นจำให้สัดส่วนของโมบายอาจเพิ่มขึ้นโดยไปกินในส่วนของธุรกิจดิจิตอลอิมเมจจิงในกลุ่มคอนซูเมอร์
“ด้วยการที่ความสามารถของกล้องในสมาร์ทโฟนสูงขึ้น ทำให้อาจมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ทโฟนแทนกล้องคอมแพกต์ ซึ่งจากจุดนี้จะทำให้สัดส่วนของธุรกิจมือถือเพิ่มขึ้น แต่ลดรายได้ในส่วนของกลุ่มคอนซูเมอร์ลง”
Company Relate Link :
Sony Mobile
ที่มา: manager.co.th