กลุ่มนักแสดงจาก Downtown Abbey ร่วมรับรางวัลในงานของสมาคมนักแสดง ที่จัดขึ้นใน ลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2013/AFP เอเอฟพี - วงการโทรทัศน์อังกฤษสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ และมีมูลค่าการขายลิขสิทธิ์ผลงานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ด้วยผลงานเด่นอย่าง Downton Abbey และ Call the Midwife ขณะเดียวกันความนิยมในรายการที่ทางดัตช์เป็นต้นคิดอย่าง The Voice ที่มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อในเวอร์ชั่นต่าง ๆ มากมายก็เป็นหลักฐานที่ทางบริษัทวิจัย Eurodata TV Worldwide ได้แสดงความเห็นผ่านรายงานประจำปี "วงการโทรทัศน์รอบโลกในรอบปี" ว่ากระแสความนิยมในรายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ยังคงไม่แผ่ว และสร้างฐานความนิยมในระดับโลกต่อไป
สำหรับความสำเร็จของวงการโทรทัศน์อังกฤษ มีดาวเด่นก็คือซีรีส์ย้อนยุค Downton Abbey ที่ตอนนี้มีประเทศต่าง ๆ ถึง 100 ประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปแพร่ภาพ ส่วนที่ฉายทางช่อง PBS ของสหรัฐฯ ในฤดูกาลที่ 3 ก็มียอดผู้ชมถึง 8.2 ล้านคน
รายการจากอังกฤษที่ได้รับความนิยมรอง ๆ ลงไปก็มี Mr Selfridge และ Midsomer Murders
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยแห่งนี้ ยังได้ชี้ว่ารายการเรียลลิตี้ที่เคยฮิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาหลายปี เริ่มเป็นที่นิยมในตลาดโลกอย่างชัดเจนในปี 2012 ที่ผ่านมา เห็นได้จาก The Voice ที่เคยมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตใหม่แค่ 3 ประเทศ ในปี 2011 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 16 ประเทศในปี 2012 ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ เวียดนาม, ออสเตรเลีย และตุรกี เป็นต้น
แต่โดยภาพรวมรายการเรียลิตี้โชว์ที่ประสบความสำเร็จขายลิขสิทธิ์ได้มากมาย ยังคงเป็นรายการที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองผู้ดี ไม่ว่าจะเป็น Got Talent ของเจ้าพ่อวงการดนตรี ไซมอน คาวล์, Strictly Come Dancing ที่ทางสหรัฐฯ ซื้อไปผลิตใหม่ภายใต้ชื่อ Dancing with the Stars และล่าสุดกับ Masterchef
ที่มา: manager.co.th