ประเทศไทยพูดถึง 3 จี มานานมาก เกือบๆ 10 ปี หลายคนบ่นกันให้ได้ยินแบบซ้ำๆ ว่า เมื่อไรจะได้ใช้ เมื่อไร กทช. จะจัดสรรคลื่น เมื่อไร เมื่อไร...?
ประเทศไทยพูดถึง 3 จี มานานมาก เกือบๆ 10 ปี หลายคนบ่นกันให้ได้ยินแบบซ้ำๆ ว่า เมื่อไรจะได้ใช้ เมื่อไร กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะจัดสรรคลื่น เมื่อไร จะเปิดประมูลใบอนุญาต...เมื่อไร ..?
ล่าสุด "พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์" ประธานคณะทำงาน 3 จี ออกมาประกาศความ "คืบหน้า" ที่ทำให้หลายคนในวงการออกอาการ "ฉงน" ปน "อมยิ้ม" เล็กน้อย กับประเด็นที่บอกว่า 3 จี คือ เทคโนโลยีที่ล้าหลังไปกว่า 7-8 ปีแล้ว ..
วันนี้ กทช.ต้องการผลักดันเทคโนโลยีที่ใหม่กว่านี้ออกมา อย่างน้อยให้ใกล้เคียงเทคโนโลยี 4 จี ...นั่นคือ 3.9 จี
ระเบิดไอเดียสู่ยุค 3.9 จี
"ตอนนี้เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด คือ 3.9 จี ที่มีความเร็วในการรับส่งมูลมากกว่า 3 จี ถึง 20 เท่า หรือประมาณ 42 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ 3 จี สามารถรับส่งข้อมูลได้เพียง 2 เมกะบิต และในอนาคต 3.9 จี จะอัพเกรดให้สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 84 เมกะบิต กทช.จึงจะเร่งผลักดัน 3.9 จี ให้โอเปอเรเตอร์แทน 3 จี เป็นเทคโนที่อยู่บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์เดิม โอเปอเรเตอร์ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม แค่อัพเกรดซอฟต์แวร์"
พ.อ.นที เล่า พร้อม "รับปาก" จะนำประเทศไทยเข้าสู่ระบบ 3.9 จี ทั่วประเทศให้ได้ปลายปีนี้ โดยได้หารือในคณะทำงานกำหนดกรอบ กติกา การแข่งขัน ไว้แล้วอย่างสมบูรณ์ เตรียมพร้อมที่จะนำเสนอบอร์ด กทช.ให้พิจารณาในวันที่ 4-5 มิ.ย. 2553
"ทางคณะทำงานได้กำหนด กรอบ กติกา ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบการให้ใบอนุญาต วิธีคิดในการให้บริการ 3.9 จี โดยได้สรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ และได้ทำประชาพิจารณ์กลุ่มย่อยประมาณ 150 คน ประกอบไปด้วย ผู้บริโภค นักวิชาการ และผู้ประกอบการไปแล้ว หลายคนพอใจกับกรอบกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น"
เขาเล่ารายละเอียดแต่ละขั้นตอน และวิธีคิดแบบละเอียดยิบ ว่า ส่วนของการออกใบอนุญาตนั้น จะกำหนดให้มีจำนวน 3 ใบๆ ละ 15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 45 เมกะเฮิรตซ์ แตกต่างจากเดิมที่กำหนด 4 ใบแบ่งเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ และ 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบ จากเดิมที่กำหนดไว้ 4 ใบ 15 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ และ 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบ
ไลเซ่น 3 ใบๆ ละ 15 เมก
"ที่เราปรับให้เป็น 3 ใบๆ ละ 15 เมก เท่าๆ กัน เพราะต้องการให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม กับผู้ประกอบการทุกราย ประกอบกับทีโอที ที่ได้ให้บริการ 3 จีมีคลื่น 15 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น ผู้ที่เริ่มต้นการประมูลใหม่ก็ควรมีคลื่นที่เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมในตลาด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ทีโอทีไม่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตใหม่ เพราะมีคลื่นอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการจัดสรรคลื่นที่เพียงพอต่อการให้บริการเต็มศักยภาพของเทคโนโลยี รองรับทราฟฟิก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวดในอนาคต ประกอบกับการรองรับปริมาณทราฟฟิก ที่อาจเพิ่มขึ้น จากผู้ประกอบการในลักษณะเอ็มวีเอ็นโอ"
ขณะที่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบในส่วนภูมิภาค ที่มีเงินลงทุนไม่มาก สามารถเข้าร่วมใช้โครงข่าย จากผู้ที่ชนะการประมูล โดยสามารถมาขอเช่าใช้โครงข่ายได้ในรูปแบบผู้รับช่วงบริการ หรือเอ็มวีเอ็นโอ โดยผู้ที่ชนะการประมูล ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้เอ็มวีเอ็นโอ มาขอใช้โครงข่าย
"ประเด็นนี้ เราได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ต้องเผื่อโครงข่าย 40% สำหรับผู้ให้บริการเอ็มวีเอ็นโอรายใหม่ด้วย ตรงนี้เราต้องการเปิดโอกาสให้รายเล็กๆ สามารถให้บริการได้ เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่อาจไม่มีเงินทุนมากนัก"
ทั้งนี้ กำหนดให้ขั้นตอนการประมูล เป็นวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีออคชั่น) กำหนดอายุใบอนุญาตที่ 15 ปี ระยะเวลาคืนทุน 8 ปี 9 เดือน ถึง 9 ปี 9 เดือน
"ในระยะยาว หากตลาดมีผู้ประกอบการไม่เกิน 4 ราย ผู้ประกอบการจะมีโอกาส และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีผลตอบแทน การลงทุน และระยะเวลาการคืนทุนที่สามารถยอมรับได้"
จัดประมูลพร้อมกันทุกใบ
เขา อธิบายเพิ่มว่า ส่วนของวิธีการเปิดประมูลใบอนุญาตนั้น จะเปิดพร้อมกันทุกใบ และดำเนินการประมูลหลายรอบ ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับ และได้รับความนิยมในสากล ทั้งยังเป็นการสร้างให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด ที่เกิดจากการมีผู้ให้บริการมากราย ไม่ได้เป็นการสร้างการแข่งขันในการประมูล เพื่อให้ได้รับมูลค่าจากการประมูลสูงสุด
"แต่หากในการประมูล มีผู้มาประมูล 4 ราย ก็จะให้ประมูล 3 ใบ มา 3 ราย ให้ 2 ใบ มา 2 ราย ให้ 1 ใบ ที่ต้องกำหนดแบบนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน การสงวนไว้ซึ่งใบอนุญาตบางใบในกรณีที่มีการแข่งขันต่ำ จะเป็นการเปิดโอกาสในการเตรียมตัวสำหรับการเข้ารับใบอนุญาตในอนาคตของผู้ประกอบการรายใหม่"
ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องส่งเอกสาร ต้องแสดงสถานะภาพทางกฎหมาย โดยต้องเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด จากนั้นต้องวางหลักประกันสัญญา เพื่อให้ กทช.พิจารณาว่าจะผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นหรือไม่ ซึ่งสถานภาพทางกฎหมาย ผู้เข้าประมูลจะต้องเป็นบริษัทจำกัด โดยการรับใบอนุญาต จะต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และหลังได้รับใบอนุญาต จะต้องดำเนินการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี
"ผู้ที่จะเข้ามาต้องไม่เป็นบุคคลต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และเป็นไปตามประกาศของ กทช. ว่าด้วยข้อห้ามการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะครอบงำกิจการ โดยบุคคลที่ไม่เป็นสัญชาติไทย แต่หากผู้ประกอบการไทยรายใด ที่ชนะการประมูลได้ใบอนุญาตไปแล้ว จะไปร่วมทุนกับต่างชาติก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายในอัตรา 51-49%"
ขณะที่การวางหลักประกันสัญญา ผู้ประกอบการต้องวางหลักประกันสัญญา 10% ของราคากลางใบอนุญาต หลังได้รับใบอนุญาตต้องจ่ายอีก 50% สิ้นสุดปีที่ 2 จ่าย 25% สิ้นสุดปีที่ 3 จ่าย 25%
ส่วนการติดตั้งโครงสร้าง (roll out) ภายในปีแรกที่ได้ใบอนุญาต จะต้องเปิดให้บริการได้บางส่วนบางพื้นที่ สิ้นสุดปีที่ 2 จะต้องครอบคลุมจำนวนประชากรอย่างน้อยที่สุด 50% และสิ้นสุดปีที่ 4 ต้องให้บริการครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
เล็งยกเลิกบริการ 2 จี
นอกจากนี้ กติกาฉบับใหม่ของคณะทำงาน 3.9 จี ของ กทช. ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า การให้บริการ 3.9 จี หากผู้ประกอบการรายเดิมที่มีสัญญาสัมปทานร่วมการงานกับภาครัฐ หากสัญญาสัมปทานหมดลง จะไม่สามารถให้บริการ 2 จี ได้อีก จะต้องมาให้บริการ 3.9 จี เพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ภายใน 8-10 ปีนี้ ระบบปฏิบัติการ 2 จี จะหมดไปจากประเทศ ขณะที่คลื่นความถี่ 800-900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีให้บริการ 2 จี อยู่ขณะนี้ จะเรียกคืนแล้วเอามาพัฒนาเป็น 4 จี
กระนั้นก็ตาม ความฉงนใจในเรื่อง 3.9 จี ก็ยังเป็นเรื่องที่ "แปลก" เพราะที่ผ่านมา ทุกคนได้ยินแต่ 4 จี เพิ่งจะเคยได้ยิน 3.9 จี จาก กทช. ก็ครั้งนี้ หลายคนบอกว่า จริงๆ แล้ว กทช. ควรจะเร่งการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ดีกว่า กำหนดกติกาให้ชัดเจนเสียทีจะ 3 จี 3.9 จี หรือ 3.99 จี ก็ขอให้ออกมาเถิด เพราะโอเปอเรเตอร์เขาพร้อมที่จะไปสู่จุด 3.9 จี อย่างที่ กทช.ว่า มานานแล้ว...
ค่ายมือถือ บี้ กทช.ออกไลเซ่นให้ไว
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า การที่ กทช. คิดจะไปสู่เทค 3.9 จี ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ดี และทำให้มองเห็นอะไรที่ล่วงหน้าถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่
"เราสนใจว่า หลักเกณฑ์การประมูล จะออกมาอย่างไร มากกว่าการจะไป 3.9 จี นั้น ก็ต้องมานั่งดูรายละเอียด ว่า หากในอนาคตอยากจะไป 4 จี ต้องมาประมูลใหม่หรือเปล่า เราอยากได้รายละเอียดที่มันชัดเจนมากกว่า การจะอัพเกรดอะไรต่างๆ ทางเอไอเอสพร้อมมานานแล้ว รอเพียงแต่ใบอนุญาตที่จะออกมา เมื่อได้มา ไม่มีใครจะอยู่นิ่งๆ ก็ต้องอัพเกรดให้รองรับการใช้งานได้อนาคต"
ส่วนประเด็น ที่ กทช.ระบุว่า ถ้าได้ไลเซ่นบริการ 3 จี แล้ว ก็ให้หยุดบริการ 2 จี ทันทีเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ก็ไม่มีปัญหาสำหรับเอไอเอส เป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้ บริษัทยังต้องมีภาระที่ต้องจ่ายสัญญาสัมปทาน ถ้าเมื่อไรไม่ต้องภาระก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น
"ไม่ว่า กทช.จะทำอะไร ก็ขอให้มีการพิจารณารายละเอียดให้รอบด้านให้ชัดเจน สิ่งที่โอเปอเรเตอร์อยากให้ชัดเจนที่สุด คือ จะประมูลเมื่อไร รายละเอียดที่ชัดเจนเป็นอย่างไร หลังจากนั้น เรื่องการอัพเกรดเทคโนโลยี เป็นหน้าที่ของโอเปอเรเตอร์อยู่แล้ว เราคิดล่วงหน้าไว้ตั้งนานแล้ว" นายวิเชียรกล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การที่ กทช.ตัดสินใจออกไลเซ่นก้าวกระโดดไป 3.9 จี เป็นเรื่องดี เพราะดีกว่าให้ลงทุน 3 จี ซึ่งล้าหลังประเทศอื่นไปมากแล้ว และในต่างประเทศก็เริ่มใช้งานเทคโนโลยี 4 จี กันหมดแล้ว ส่วนการประมูลไลเซ่นไม่อยากให้แข่งกันเอาเงินมากอง แต่อยากให้แข่งกันขยายโครงข่ายให้บริการให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด
"เห็นด้วยที่ กทช.เปิดให้ 3.9 จี เพราะจะทำให้ไทยเดินล้ำหน้าเพื่อนบ้านทันที เพราะหากเรายังมองแค่ 3 จี ก็ยังตามหลังเพื่อนบ้านอยู่ดี" นายศุภชัยกล่าว
ขณะที่ นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ยังคงรอคอยให้ กทช. ขับเคลื่อนแผนการออกใบอนุญาตบนคลื่นความถี่ใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะ 3 จี หรือ 3.9 จี ก็พร้อมร่วมประมูลด้วยอย่างแน่นอน
ที่มา: bangkokbiznews.com