สัญลักษณ์ Google Reader บริการดึงข่าวจากหลายเว็บไซต์ที่กำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้บริการ RSS กำลังจะตาย? ถึงเวลาบอกลา Google Reader บริการแอปพลิเคชันอ่านข่าวจากกูเกิล (Google) ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นบริการที่ชาวออนไลน์รู้จักดีที่สุดในบรรดา 8 บริการที่กูเกิลขีดเส้นเตรียมปิดบริการในช่วงกลางปีนี้ นักวิเคราะห์ชี้การปิดบริการ Google Reader แสดงว่า RSS กำลังจะหมดลมหายใจ หลังจากอยู่ในช่วงโคม่าเพราะไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้ได้ในยุคเครือข่ายสังคม กูเกิลประกาศรายชื่อ 8 บริการที่จะปิดตัวลงในช่วงกลางปีตามนโยบาย spring cleaning เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2013 ซึ่งเป็นการปิดบริการเพื่อให้กูเกิลสามารถจัดระเบียบบริการที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการหันไปพัฒนาบริการที่ดีกว่า โดยหนึ่งใน 8 บริการที่ถูกประกาศชื่อออกมานั้นมี Google Reader แอปพลิเคชันอ่านข่าวจากหลายเว็บไซต์ที่ชาวออนไลน์หลายคนรู้จักดีตั้งแต่ปี 2005
กูเกิลระบุว่า Google Reader ถูกพัฒนามาเพื่อให้ชาวออนไลน์สามารถค้นหาและเก็บทางเข้าสำหรับเปิดเว็บไซต์ที่ชื่นชอบได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้ Urs Hölzle รองประธานฝ่ายโครงข่ายเทคนิกของกูเกิลยอมรับว่าแม้จะได้รับเสียงตอบรับดีในระยะแรก แต่จำนวนผู้ใช้กลับลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กูเกิลจึงตัดสินใจยกเลิกบริการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 โดยผู้ใช้และนักพัฒนาสามารถดึงข้อมูลส่วนตัวออกมาได้ด้วยบริการ Google Takeout ตลอด 4 เดือนนับจากนี้
สื่อต่างประเทศมองว่าการปิดตัวของบริการ Google Reader นั้นแสดงถึงการเข้าสู่ยุคอวสานของเทคโนโลยี “RSS" อย่างชัดเจน
RSS หรือ Really Simple Syndication เป็นบริการสำหรับดึงข่าวจากเว็บไซต์ต่างๆ มาแสดงบนหน้าเพจเดียว ผู้ใช้จะต้องมองหาสัญลักษณ์ RSS สีส้มขนาดจิ๋วเพื่อคลิกสมัครรับข่าวจากเพจที่ต้องการ ผลคือข่าวจากหลายแห่งที่ได้สมัครไว้จะปรากฏลิงก์หัวข้อข่าวบนหน้าเพจเดียว เมื่อผู้ใช้คลิกลิงก์ก็จะสามารถเปิดข่าวของเว็บไซต์ต้นฉบับได้แบบอัปเดทตามเว็บต้นทาง
การปิดบริการ Google Reader แสดงว่ากูเกิลซึ่งเป็น"ผู้ให้บริการดึงข่าว"นั้นถอดใจกับภาวะขาลงของ RSS เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในวันนี้มีการใช้งานบริการดึงข่าวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ที่ผ่านมา เจ้าของเว็บไซต์ต้องอธิบายยืดยาวเพื่อบอกว่า RSS คืออะไร บางคนถึงกับอธิบายว่า RSS คือการเปลี่ยนคอนเทนต์เป็นสถานีโทรทัศน์ส่วนตัว ซึ่งผู้ใช้บางกลุ่มนั้นเข้าใจแต่บางกลุ่มก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป
ปัจจุบัน ทวิตเตอร์ (Twitter) นั้นเป็นบริการ RSS ขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้สามารถเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายอะไร เพราะทุกคนสามารถติดตามหรือ follow ผู้แชร์คอนเทนต์ได้ตามต้องการโดยที่ไม่ต้องสมัครบริการรับข่าวใดๆ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันอย่างฟลิปบอร์ด (Flipboard) แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้จะสามารถเลือกรับข่าวได้ง่ายบนรูปแบบหน้าจอสวยงาม ซึ่งมีความสวยงามน่าใช้งานมากกว่า Google Reader หรือบริการรับข่าว RSS ทั่วไป
นอกจากมุมผู้ใช้ ผลจากการแพร่หลายของเครือข่ายสังคมออนไลน์และการแจ้งเตือนของแอปพลิเคชันรวมข่าวบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ยังส่งผลให้ผู้สร้างเว็บไซต์อาจเลือกใช้ RSS น้อยลงด้วยเช่นกัน
การปิดบริการ Google Reader ยิ่งตอกย้ำว่ากูเกิลมีความสนใจในเทคโนโลยี RSS น้อยลง โดยช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว กูเกิลปิดบริการ AdSense สำหรับ RSS feed ไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากกูเกิลเริ่มดึงวิศวกรผู้พัฒนาระบบ Reader มาพัฒนาโครงการอื่นระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับอีก 7 บริการที่กูเกิลจะปิดตัวลงนั้นได้แก่ ชุดโปรแกรม GUI Builder และโปรแกรมวิดเจ็ท UiApp 5 รายการ (ปิดให้บริการวันที่ 16 กันยายน) ชุดโปรแกรม CalDAV API สำหรับนักพัฒนาทั่วไป (ปิดบริการวันที่ 16 กันยายน) บริการ Google Building Maker (ปิดให้บริการวันที่ 1 มิถุนายน) และบริการ Google Cloud Connect (ปิดบริการ 30 เมษายน)
ยังมีแอปพลิเคชัน Google Voice App For Blackberry (ปิดบริการ 18 มีนาคม) บริการ Search API for Shopping (ปิดบริการ 16 กันยายน) และบริการ Snapseed Desktop for Macintosh and Windows (ปิดบริการวันนี้ 14 มีนาคม)
ที่มา: manager.co.th