ผลประชุมบอร์ด กสท.ยังไม่ชัดเรื่องมูลค่าคูปองหนุนการเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิตอล ต้องรอมูลค่าคลื่นที่แท้จริงก่อน คาดชัดเจนปลายเดือนนี้ เตรียมทดสอบออกอากาศทีวีดิจิตอล 2 มีนาคมนี้สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ จำนวน 4-5 ช่องภายใต้การดูแลของ อสมท พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กสท.ว่า คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้อนุมัติในหลักการของบอร์ด กสท.ในการออกคูปองเงินสนับสนุนค่าเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์การรับชมโทรทัศน์จากทีวีในระบบแอนะล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอลให้แก่คนไทย 22 ล้านครัวเรือนเรียบร้อยแล้ว แต่หลักการดังกล่าวยังต้องผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด กสทช.ทั้ง 11 คนอีกครั้ง
ส่วนราคาคูปองสนับสนุนขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดแต่อย่างใด เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาจำนวนมูลค่าคลื่นที่แท้จริงเพื่อนำมากำหนดอัตราราคาตั้งต้นการประมูลทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจทั้ง 24 ช่องก่อน
โดยคาดว่าราคาตั้งต้นการประมูลจะได้รับความชัดเจนในช่วงปลายเดือนนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ทำการขยายระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินกองทุนฯ ประจำปี 2556 จากเดิมที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2556 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 เป็นเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2556 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมีโอกาสเข้ามาขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ
พ.อ.นทีกล่าวต่อว่า ที่ประชุม กสท.มีมติเห็นชอบต่อรายงานผลการพิจารณาให้ความเห็นต่อกรณีแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายกับบริษัท เวิลด์สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีหนังสือแจ้งให้กรมประชาสัมพันธ์แก้ไขการใช้งานคลื่นความถี่ฯ โดยให้บริษัท เวิลด์สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด หรือเอกชนรายอื่นยุติการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทันที
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามคณะอนุกรรมการฯ ที่เสนอให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองที่มีคำสั่งให้ บริษัท เวิลด์สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ต้องจ่ายค่าปรับแก่กรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งในปัจจุบันคือสำนักงาน กสทช. นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิดปี 2539 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 72.28 ล้านบาท ตามคำร้องของกรมประชาสัมพันธ์
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยกรมไปรษณีย์โทรเลขได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2504-2512, 2512-2520 และ 2520-2524 MHz ให้แก่กรมประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการให้บริการวิทยุโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้อนุญาตให้บริษัท เวิลด์สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าร่วมและดำเนินโครงการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทฯ ได้มีการชำระค่าตอบแทนให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังละเมิดข้อตกลงที่มีเงื่อนไขห้ามปล่อยเช่าช่องสัญญาณให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาดำเนินการ ซึ่งบริษัท เวิลด์สตาร์ ทีวี ได้ให้ บริษัท เอ็มวี เทเลวิชั่นส์ ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาดำเนินการ
สำหรับเรื่องอื่นๆ ในการประชุมนั้น ที่ประชุม กสท.มีมติอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงเพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราวสำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ เรื่อง NBTC/ITU Seminar and Workshop on Digital Radio Technologies ในวันที่ 2 มีนาคม 2556 โดยใช้ย่านความถี่ VHF Band III ช่องความถี่ 12 (223-230 MHz) ออกอากาศด้วยช่องความถี่ 12B (225.648 MHz) และ 12C (227.360 MHz)โดยในครั้งนี้จะมีการทดลองออกอากาศจะมีจำนวน 4-5 ช่องภายใต้การดูแลของ อสมท บนย่านความถี่ VHF แบนด์ 3 กำลังส่ง 50 วัตต์ ครอบคลุมรัศมี 100 กิโลเมตร จาก อสมท ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วย อสมท สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการภาคเอกชนราว 50 ราย ผู้ประกอบการวิทยุรถยนต์ และตัวแทนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th