Author Topic: “บ๊อบ บดินทร์” เศร้าเสียลูกไป 1 คน หลังภรรยาคลอดลูกแฝด3 ก่อนกำหนด  (Read 777 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


     พิธีกรหนุ่ม “บ๊อบ บดินทร์” ควงภรรยา “เฮี้ยง ณัฐสินี” เปิดใจลูกชายฝาแฝด 2 คน ปลอดภัยแล้ว หลังภรรยาต้องคลอดลูกแฝด 3 ก่อนกำหนด ไปเมื่อ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ทั้งที่อายุครรภ์เพียง 6 เดือน สุดเศร้าที่ต้องเสียลูกชายไป 1 คน เนื่องจากปอดไม่สมบูรณ์ ส่วนอีก 2 คน ต้องอยู่ในตู้อบนาน 5 เดือน โล่งตอนนี้ลูกแข็งแรงเป็นปกติแล้ว
       
       ทำเอาโล่งใจและยิ้มได้แล้วสำหรับพิธีกรชื่อดัง “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” หรือ “บ๊อบ บดินทร์” หลังจากที่ลูกชายฝาแฝด 2 คน “น้องพุฒ ณติวัชร์” กับ “น้องพร้อม ณัติวิชญ์” ปลอดภัยแล้ว หลังภรรยา “เฮี้ยง ณัฐสินี โกศลพิศิษฐ์” ต้องคลอดลูกชายแฝด 3 ก่อนกำหนด ไปเมื่อ 5 ก.ย. 2555 ทั้งที่อายุครรภ์เพียง 27 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน โดยทั้งคู่ต้องสูญเสียลูกชายไป 1 คน เนื่องจากปอดไม่สมบูรณ์ ส่วนอีก 2 คน ต้องอยู่ในตู้อบนาน 5 เดือน แต่นับว่าโชคดีที่ตอนนี้เด็กทั้ง 2 คนแข็งแรงเป็นปกติแล้ว ทั้งนี้เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา บ็อบได้ควงภรรยา เปิดแถลงข่าวขึ้นที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยมี นายแพทย์ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยบาล และ แพทย์หญิงธิดาวรรณ วีระไพบูลย์ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิด ร่วมแถลงด้วย ซึ่งในขณะที่กำลังแถลงข่าวนั้นภรรยาของบ็อบได้ร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจที่ลูกน้อยต้องจากไปก่อนวัยอันควร
       
       บ๊อบ : “ลูกคลอดตั้งแต่ 5 กันยาฯที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ 5 เดือนเต็ม วันนี้ก็เป็นครั้งแรกของทั้ง 2 คนที่ได้ออกสื่อ เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ไม่พร้อมทั้งคู่ เนื่องจากสภาพก่อนกำหนดและน้ำหนักที่ค่อนข้างน้อยมาก นั้น 27 สัปดาห์ คุณหมอบอกว่าน้ำหนักน้อยมากซึ่งอันตราย เราก็เพิ่งผ่านพ้นช่วงวิกฤตมา ก็อย่างที่ทราบว่าตอนนี้ก็เหลือ 2 คน ก็อย่างที่บอกว่าวันนี้ไม่ได้มาแสดงความเสียใจ แต่ต้องแสดงความดีใจมากกว่าที่เรายังคงรักษาลูก 2 คนไว้ได้ เพราะทั้ง 3 คนนั้นวิกฤตมาก ด้วยน้ำหนักด้วย ด้วยช่วงเวลาด้วย เพราะบางคนอยู่ในท้องนานน้ำหนักน้อย แต่ของเราอยู่ในท้องน้อยน้ำหนักก็น้อยด้วย แค่ 27 สัปดาห์ ซึ่งวิกฤตพอสมควร ต้องบอกว่า ณ วันนั้นเราฉุกเฉินจริงๆ”
       
       “วันนั้นคุณเฮี้ยงเกิดเจ็บท้องกะทันหัน ตอนแรกก็นึกว่าเด็กโก่งตัวธรรมดา คุณเฮี้ยงก็เลยเช็คดูว่าจะมีวิธีทำให้หายไหมเพราะรู้สึกว่าวันนี้โก่งนานเป็นพิเศษ เพราะเพิ่งมาหาได้วันเดียวแล้ววันรุ่งขึ้นก็โก่งตัวนาน ก็เลยโทรเช็คกับคุณหมอว่าควรทำยังไงดี พอเข้าห้องน้ำไปก็รู้สึกไม่ปกติ คือมีเลือดออกมาเล็กๆ คุณหมอก็คิดว่าไม่ปกติแล้วอาจต้องผ่าฉุกเฉินวันนั้น เราก็ไม่เคยคิดเลยว่า 27 สัปดาห์เราจะต้องผ่า”
       
       “จริงๆ สารกระตุ้นปอดต้องให้สัปดาห์ที่ 30 เท่านั้น แต่คุณหมอก็เลื่อนมา เผื่อว่าจะคลอดเร็ว ว่าที่คุณหมอคาดการณ์ไว้พอสมควรคือประวัติของคุณเฮี้ยงคลอดเร็วตั้งแต่ลูกคนแรก ลูกสาวคนแรกก็คลอด 36 สัปดาห์ ตอนแรกก็ไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯแต่มีตู้ฉุกเฉินไม่พอเลยย้ายมาที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ตอนนั้นไปถึงโรงพยาบาลปากมดลูกก็เปิดหมดแล้ว แต่โชคดีที่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก แล้วตอนนั้นก็ตี2 ผมก็มีโอกาสได้ไปอยู่ในห้องทำคลอด ก็รู้เลยว่าเร็วมากภายใน 20 นาทีทุกอย่างก็เสร็จหมดแล้ว”
       
       “ตอนนั้นคุณเฮี้ยงพอฟื้นจากยาสลบ พอคุณเฮี้ยงสะลึมสะลือผมก็ต้องไปดูลูกเพราะผมห่วงมากกลัวคนจะสลับลูกไป คุณเฮี้ยงก็เลยบอกตอนนี้คงไม่มีใครอยากสลับลูกกับเราหรอก ไม่มีใครเอาไปเป็นภาระแน่นอน ก็รอคุณหมอจนเช้า คืนนั้นโชคดีมากที่ไม่มีงาน ก็ทำให้ผ่านช่วงเวลานั้นมา”
       
       “ตอนนั้นเราก็พยายามอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่าคลอดแล้ว ก็อยากให้ภาพมีแขน 3 คน เอ บี ซี นั่นเป็นภาพเดียวที่ผมอยากอัปส่งขึ้นไป แต่พอเห็นสภาพลูกก็ไม่กล้า แม้แต่พ่อแม่เราเองด้วยซ้ำเพราะว่ามันค่อนข้างน่ากลัว เวลาเราเห็นผู้ใหญ่มีสายน้ำเกลือเราก็ว่าน่ากลัวแล้ว ลูกเราตัวเท่าฝ่ามือพอเห็นเราก็พูดไม่ออก ได้แต่ถามคุณหมออย่างเดียวเลยว่าจะไหวไหม นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นคำถามที่อยู่มาร่วมเดือน”
       
       “พอเสียคนที่ 3 ไป อีก 2 คนก็อยู่ในอาการ 50:50 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ไม่อยากให้ใครรู้สึกสงสารเราหรอกเพราะทุกคนก็ถามเราหมดว่าเป็นยังไงบ้าง แต่เราก็ไม่ได้ตอบอะไร จนกระทั่งผมเดินทางไปที่ต่างๆ ก็มีคนถาม แล้วก็อยากเห็นรูปเพราะคงคิดว่าผมยังมีแฝด3 ผมก็ไม่ได้พูดอะไรเพราะรายละเอียดมันเยอะมาก ตอนนั้นคือต้องมีกำลังใจให้กันในครอบครัวต้องรู้ว่าเราต้องเจอภาวะอะไรบ้าง”
       
       “น้องคนที่จากไปเกิดจากสาเหตุที่ปอดยังไม่ทำงานเต็มที่ ตอนนั้นเราก็ถามหมอเรื่อยๆ ว่าปลอดภัยไหม ตอนนั้นคุณหมอบอกดูไม่ค่อยดี ก็เลยคุยกันว่ายังไงดี จนคุณหมอบอกต้องปรับไปใช้เครื่องของเด็กอีกขนาด ผมก็เลยบอกว่าเขาสู้มาพอแล้ว แล้วเราก็มองว่าสมมุติเขารอดตายเขาจะอยู่ยังไงมากกว่าการที่จะต้องให้รอดอย่างเดียว เพราะไม่รู้ว่ารอดตายจะมีอะไรเข้ามาอีกบ้าง แล้วอีกสองคนที่ดูดีกว่าเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้าง”
       
       “พอถึงช่วงที่ต้องใช้ท่อที่ขนาดมากขึ้นๆ ผมก็เลยบอกคุณหมอว่าเราจะไม่ทำร้ายร่างกายของเขาไปมากกว่านี้นะ ผมก็เลยบอกคุณหมอให้ละระดับลงไปเรื่อยๆ ที่ควรได้รับและไม่มากเกินไป ส่วน 2 คนต้องกินนม อีกคนต้องยื้อชีวิต คือต้องปลอบภรรยาว่าต้องมองไปข้างหน้านะ เรายังเหลืออีก 2 ที่เราต้องดูแล ลูกร้องนมอยู่นะไม่ต้องร้องดูแลตัวเองเยอะๆ ต้องทำอะไรอีกเยอะ เขาก็บอกว่าขึ้นอยู่ที่ผมแล้วกัน จากนั้นหนึ่งชั่วโมงเขาก็ค่อยจากไป ตอนนั้นสิ่งที่ผมบอกได้คืออยากให้เขาไปเจอแต่สิ่งที่ดี วันนั้นผมอยู่ในห้องนั้นกับลูกประมาณ 1 ชั่วโมง นั่งสวดมนต์ข้างๆ เขา จนถึงวินาทีสุดท้ายที่เขาหายใจ”
       
       “หลังจากนั้นวิกฤตก็เกิดขึ้นอีก 2 เดือนแรกเพราะไม่รู้ว่าสองคนที่อยู่จะปลอดภัยไหม อย่างที่คุณหมอบอกเรื่องของปอดเรื่องของหัวใจที่จะต้องผ่าตัด อย่างผ่าตัดก็ฉุกเฉินเหมือนกัน พอท่อไม่ปิด เลือดก็จะออกจากช่องล่างซ้าย จนเข้าไปถึงในปอดเพราะเด็กทั่วไปจะปิดทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เต็มที่ ก็เลยตั้งชื่อให้ว่าน้องพุฒกับน้องพร้อมทุกวันนี้ก็ยังแยกไม่ออกนอกจากไซส์ตัวที่ต่างกัน ชื่อจริงน้องพุฒ ณติวัชร์ กับ น้องพร้อม ณัติวิชญ์ คือผู้มีพร้อมด้วยความรู้”
       
       ด้าน “แพทย์หญิงธิดาวรรณ วีระไพบูลย์” กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เผยถึงอาการและการรักษาว่า…
       “ครั้งนี้เราทำดีที่สุดแล้วก็สู้ที่สุด อีกอย่างคือต้องขึ้นอยู่ที่พ่อแม่ด้วย เพราะบางคนก็ไม่เข้าใจการปฏิบัติงาน ตอนนั้นก็ใส่ท่อช่วยหายใจหมดทุกคน ปรับเลือดให้เข้ากับอุณหภูมิ ส่วนมากปัญหาของเด็กก็จะเป็นเรื่องปอด ซึ่งอวัยวะสร้างสมบูรณ์แต่ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเรื่องท่อหายใจ ใส่สารลดความตึงของผิวเพื่อให้ถุงลมต่างๆทำงานได้ดีขึ้นซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเป็นช่วงๆ พอเรื่องปอดแล้วก็มาเรื่องหัวใจซึ่งจะมีเส้นเล็กๆ ยื่นออกมาระหว่างปอดกับท่อหายใจ กับเส้นที่ออกไปเลี้ยงร่างกาย ความจริงมันต้องปิดนะ แต่ของน้องเปิด เราก็ต้องเรียกแพทย์จากโรงพยาบาลรามาฯมาช่วย เราก็คุยกับผอ.ว่าเราต้องผ่าตัดนะ คือปอดยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เราต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องช่วยหายใจพิเศษ”
       
       ทั้งนี้ “นายแพทย์ดุลย์ ดำรงศักดิ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้กล่าวเสริมว่า…
       “ตอนนั้นน้ำหนักของเขาน้อยมากครับ แค่ 700-800 กรัม ซึ่งน้อยมากนะ ตัวเล็กเท่าฝ่ามือ แฝดคนแรก 702 กรัม แฝดคนที่สอง 859 กรัม ทั้งคู่ไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัมเลย ส่วนคนสุดท้าย 930 กรัม ทั้ง 3 คนตอนแรกออกมาก็ 50:50 ตอนนั้นก็เข้าใจคุณเฮี้ยงกับคุณบ็อบเพราะลูกสาวผมก็เป็นเหมือนกันยังอยู่ในไอซียูเหมือนกัน คืออาการก็คล้ายๆ กัน คือจะดีขึ้นแล้วก็แย่ลงๆ คือพ่อแม่จะต้องแข็งแรงมาก แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกดีใจเพราะน้ำหนักน้องทั้ง 2 คนก็เริ่มไต่ขึ้นเรื่อยๆ โดยคนพี่ น้องพุฒ ขณะนี้น้ำหนักตัว 5 กิโลกรัมแล้ว ส่วนน้องพร้อม ขณะนี้น้ำหนักตัวเพิ่มเกือบจะ 7 กิโลกรัมแล้ว”

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)