จะเห็นได้ว่าข่าวคราวช่วงนี้เกี่ยวกับกระแสของการตั้งแฟนเพจ เพื่อตามตัวผู้ร้ายบนโลกออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก จากความสำเร็จของ คุณนัน (นามสมมติ) admin page ตามล่าไอ้โอม วายร้ายที่ทำความผิดมานานกว่า 15 ปี มาลงโทษได้สำเร็จ
แต่ก็ยังไม่วายที่มีผู้เสียหายถูกกระทำรายวัน หลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทองไปมากมายแถมซ้ำยังลอยนวลหน้าตาเฉยอย่าง สุธาทิพย์ จดจำ แฮกเกอร์มือฉมัง ลอบปลอมแปลงอีเมล์ รหัสผ่านเฟซบุ๊กบนร้านค้าออนไลน์หลอกให้คนโอนเงินแต่ไม่ได้สินค้าไปหลายแสนบาท รวมคดีความคงค้างไม่ต่ำกว่าล้านบาท!!
คุณแสบ (นามสมมติ) เชื่ออย่างแรงกล้าว่ากระแสจากโลกไซเบอร์นี่แหละเป็นพลังชั้นดีในการช่วยเตือนภัยและตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษได้ดีกว่ากระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ วันนี้คอลัมน์ IT จะพาไปพบความรู้ใหม่ๆจากภัยโลกไร้สายกัน
Cybersecurity คืออะไร Cybersecurity คือการป้องกันอันตรายในโลกออนไลน์ ที่มีผลกระทบต่อตัวผู้ใช้งานและทรัพย์สิน (ข้อมูล) ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้งานออนไลน์ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยหลายๆด้าน ไม่ว่าเป็นอัตราค่าบริการที่ถูกลง หรือการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์พกพาต่างๆ เช่น Smartphone และ Tablet PC โดยบริษัทวิจัยหลายแห่งจัดอันดับให้ทวีปทางแถบเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตการใช้ Smartphone สูงที่สุด แล้วประเทศไทยล่ะ? รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันประเทศไทย Smartphone และ Tablet กลายเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย และมีให้เห็นกันจนชินตา จึงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นช่องทางใหม่ในการติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ทุกคนสามารถใช้งาน และเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายของโลกอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลาอย่างง่ายดาย แต่ด้วยความง่ายดายนี้เอง จึงทำให้มีมิจฉาชีพมากมายจ้องจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากตรงนี้
ถ้าหากผู้ใช้ไม่มีความระมัดระวัง ไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ก็อาจจะต้องพบกับความสูญเสียและตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว เพราะเหตุนี้ Cybersecurity จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปไม่ควรละเลย
ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
1.รู้จัก Phishing : ตกปลาออนไลน์? เพราะPhishing ก็เหมือนกับการตกปลาผ่านเหยื่อล่อที่เรียกว่า‘ของรางวัล’ หรือหลอกให้คุณตกใจอย่าง‘บัญชีของคุณกำลังมีปัญหา!’ เพื่อหลอกให้คุณกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน, รหัสผ่านหรือแม้กระทั่งรหัสบัตรเครดิต
ผู้ใช้มือถือมีความเสี่ยงต่อการถูก Phishing ได้มากกว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปถึง 3 เท่า จากผลการสำรวจ
วิธีป้องกัน - จำไว้ให้ขึ้นใจเลยนะว่า…..“ไม่มีธนาคารสักรายเดียวที่จะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลชื่อบัญชี และรหัสผ่านของเรา ผ่านทางอีเมล์”
- อย่าเปิดลิงก์ที่แนบมาใน Emailเพราะผู้โจมตีมีเทคนิคมากมายในการปลอมชื่อผู้ส่งให้เหมือนมาจากองค์กรนั้นจริง ๆ
- อย่าดาวน์โหลดApplicationที่ผิดกฎหมายหรือไม่รู้ที่ไปที่มาชัดเจน เพราะ อาจแฝงไวรัสมาด้วย
- ช่วยกันเป็นหูเป็นตา
2.รู้จัก Identity Theft : หัวขโมยตัวตนออนไลน์ อาชญากรพวกนี้เป็นพวกหวังรวยทางลัด โดยการเอาข้อมูลของคุณมายำใหญ่ใส่เป็นของตัวเองแล้วนำไปใช้ โดยส่วนใหญ่จะนำข้อมูลส่วนตัวของคุณไปปลอมหลักฐานทางการเงิน
โดยเฉพาะในยุค 3G พบว่าผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ Smartphone มีโอกาสเสี่ยงโดนขโมยข้อมูลมากกว่าการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ถึง 3 เท่า และพบว่า62% ของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ Smartphone ไม่ใส่รหัสผ่านบนหน้าจอแรกเข้า เนื่องจากคาดไม่ถึงว่าจะสามารถขโมยข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้
7% ของผู้ใช้ Smartphone โดนมิจฉาชีพขโมยตัวตน
วิธีป้องกัน 1.กำหนดรหัสผ่านเข้าใช้ให้มือถือ และเเท็ปเล็ต
2.ติดตั้งApplication ที่คอยช่วยเหลือด้านความปลอดภัย เช่น สามารถ Back up ข้อมูลในมือถือสู่คอมพิวเตอร์หรือ Web Server
3.หากจะทำธุรกรรม หรือให้ข้อมูลสำคัญออนไลน์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ
4.อย่าออนไลน์อย่าให้เบอร์บัตรเครดิตหรือรหัสสำคัญใดๆเวลาคุยออนไลน์เป็นอันขาด เพราะอาจถูกมิจฉาชีพดักรอข้อมูลอยู่ได้
5.เอกสารสำคัญต่างๆ เช่น บัตรประชาชน บัตรประกันสังคม ทะเบียนบ้าน บัตรเครดิต ต้องฉีกทำลายก่อนทิ้งทุกครั้ง
3.รู้จัก Social Media Social Media หมายถึง สังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้เป็นผู้สื่อสาร เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บทความ รูปภาพ และวีดีโอ แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตน ผ่านทางเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่นต่างๆ ปัจจุบันคนเพียงแค่ปลายนิ้วมือผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ได้แล้ว
จากการวิจัยพบว่า กว่า 4.8 ล้านคนที่ใช้ Facebook ทั่วโลกบอกแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเขาผ่านสเตตัสในเฟซบุ๊ก และนั่นก็คือแหล่งข้อมูลอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพ เยาวชนกว่า 800,000 คนตกเป็นเหยื่อของภัยอันตรายที่เกิดขึ้น
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยง • อย่าบอกทุกสิ่ง แชร์ทุกอย่างมากเกินไป เช่น เกิดวันไหน? บ้านอยู่ไหน?ไปไหน ? หรือทำอะไรอยู่ ?
• พิจารณาในการคนเป็นเพื่อนว่าเหมาะสม วางใจและรู้จักกันจริงรึไม่
• อย่าโพสต์รูปต่างๆ มากเกินไป โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ถึงผลกระทบที่อาจตามมา
• ไม่ควรกดเข้าไปในลิงค์ที่ตนเองไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจ
• อย่าInstallทุกแอพฯ โดยเห็นว่าเป็นของฟรีทั้งที่ไม่มีความจำเป็น
4.รู้จัก Mobile Malware : โปรแกรมตัวร้ายใน Smartphone
คนส่วนมากเชื่อว่าไวรัสและโปรแกรมแปลกๆ มีแต่ในโลกคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าจำนวน Applicationหรือ โปรแกรมที่สร้างความเสียหายให้กับข้อมูลและโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้นั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆเนื่องจาก Smartphone ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์ เลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีมิจฉาชีพพัฒนาโปรแกรมที่สร้างความเสียหายกับ Smartphone หรือที่เรียกว่า “มัลแวร์ (Malware)”
แนวทางป้องกัน • เก็บรักษาโทรศัพท์มือถืออย่างใกล้ชิด
• ล็อกโทรศัพท์มือถือ ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ
• สำรองข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือไว้ในที่ปลอดภัย
• ไม่ควรเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญมากๆในมือถือ
• ปิดการเชื่อมต่อบลูทูธ เลี่ยงการเชื่อมต่อบลูทูธที่ไม่รู้จัก
• เลือกติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็นและจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ
• อัพเดทโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ
• แจ้งผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อโทรศัพท์สูญหาย เพื่อป้องกันความเสียหาย
ที่มา: manager.co.th