กทค.อนุมัติค่าไอซีชั่วคราว 45 สตางค์ต่อนาที พร้อมยุติค่าปรับทรูมูฟ กรณีกำหนดวันหมออายุพรีเพดตั้งแต่ 17 ม.ค. ส่วนเอไอเอส-ดีแทคยังคงเดินหน้าปรับเช่นเดิม ขณะเดียวกันอนุมัติเลขหมาย 3G 26 ล้านเลขหมายให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการ และมีมติในเรื่องที่มีความสำคัญ ๆ โดยเฉพาะ การกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งที่ประชุมรับทราบสรุปผลการประชุมแนวทางการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม และรับทราบผลการศึกษาของบริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค ตามโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อของบริการโทรศัพท์ในยุค 3G พร้อมรับฟังความเห็นของสำนักงาน และของ ดร.เชิดชัย ขันธ์นะภา ที่ปรึกษา กสทช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบการพิจารณาแล้ว
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราชั่วคราวไปก่อนในระหว่างการปรับปรุงประกาศ กสทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อจะกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งระบบในอนาคต
อาศัยอำนาจตามข้อ 124 ของประกาศ กสทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในระหว่างที่ข้อเสนอการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมหรือการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz ทั้ง 3 ราย ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และลดปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อ จึงเห็นชอบในหลักการให้มีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นการชั่วคราวระหว่างผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz
สำหรับอัตราค่าตอบแทนชั่วคราวที่จะกำหนด พิจารณาแล้วเห็นชอบกับข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษาฯ ตามทางเลือกที่ 2 การคำนวณด้วยวิธี Tilted Straight-Line Depreciation ซึ่งกำหนดให้คิดในอัตรา 0.45 บาท/นาที ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนชั่วคราว และคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในปีแรกผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายเพื่อให้ได้พื้นที่การให้บริการที่มีอัตราครอบคลุมประชากรตามที่ กสทช. กำหนด โดยเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานฯ ที่ให้กำหนดระยะเวลาการบังคับใช้อัตราค่าตอบแทนชั่วคราวนี้เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
พร้อมทั้งทีีประชุมสั่งให้สำนักงานฯ ไปดำเนินการยกร่างคำสั่ง กสทช. เรื่องให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมชั่วคราวเป็นอัตราอ้างอิงตามแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. ในการประชุมครั้งต่อไป ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติกรณีการกำหนดระยะเวลาใช้บริการโทรศัพท์พรีเพด กรณีบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้แจ้งว่า ผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 และผู้ใช้บริการที่เติมเงินทุกมูลค่าตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 เป็นต้นไป สามารถใช้บริการโทรศัพท์พรีเพดต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าบริษัทฯ จะได้รับความเห็นชอบในการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการจาก กสทช. ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 แล้ว อันมีผลให้ค่าปรับทางปกครองยุติลงในวันที่ 17 มกราคม 2556 และล่าสุด บริษัท ได้ยื่นข้อเสนอเงื่อนไขกำหนดระยะเวลาการใช้บริการให้ กสทช. พิจารณาแล้ว โดย กสทช. จะได้พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป
ส่วนกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคนั้น ทั้งสองบริษัทยังไม่ยุติการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่ขอเสนอจัดทำบริการทางเลือกให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สำนักงาน กสทช. กำหนดแทน และทั้งสองบริษัทมิได้ยื่นข้อเสนอเงื่อนไขกำหนดระยะเวลาการใช้บริการให้ กสทช. พิจารณา ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองบริษัทยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 อันมีผลให้ค่าปรับทางปกครองของทั้งสองบริษัทยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
อีกทั้งที่ประชุมยังหารือเรื่องการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการ 99 สตางค์ต่อนาที กรณีที่เอไอเอส ดีแทค และสมาพันธ์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาทบทวน ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 (ค่าบริการขั้นสูงไม่เกิน 99 สตางค์/นาที) ที่ประชุมมีมติยืนยันให้ปฏิบัติตามประกาศฯ อย่างเคร่งครัด โดยยึดถืออัตราค่าบริการขั้นสูงไม่เกิน 99 สตางค์ ตามที่ กสทช. กำหนด
พร้อมทั้งที่ประชุมยังมีวาระพิจารณาอนุมัติจัดสรร 26 ล้านเลขหมายให้ผู้ประกอบการ 3G. เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หรือใบอนุญาต 3G ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไปแล้วนั้น ในการที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายดังกล่าวจะสามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในโครงข่าย 3G ใหม่นี้ได้นั้น จะต้องมีเลขหมายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป และเลขหมายทางเทคนิคที่ผู้ให้บริการจะต้องนำไปใช้เพื่อติดตั้งและบริหารจัดการโครงข่ายให้สามารถเปิดให้บริการกับผู้ใช้บริการได้
โดยก่อนหน้านี้กทค.ได้อนุมัติจัดสรรเลขหมายเทคนิคให้กับผู้ประกอบการ 3 รายไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ประกอบด้วย เลขหมาย Mobile Network Code (MNC) เลขหมาย National Signalling Point Code (NSPC) และเลขหมาย Routing Code ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการได้นำเลขหมายนี้ไปใช้ในการติดตั้งและเตรียมการทดสอบโครงข่ายแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556
ล่าสุดที่ประชุมได้มีการอนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ประกอบการ 3 รายดังกล่าว จะต้องนำไปให้บริการกับผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 26 ล้านเลขหมาย โดยเมื่อได้รับจัดสรรเลขหมายแล้ว ผู้ประกอบการก็จะนำเลขหมายไปผลิตซิม บันทึกเลขหมายในระบบโครงข่าย และวางจำหน่ายซิม ต่อ
ทั้งนี้ กทค. ได้จัดสรรกลุ่มเลขหมายเรียงตามลำดับก่อนหลังตามข้อกำหนดในประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยหมวดเลขหมาย 088 089 092 093 094 และ 095 โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมที่ได้รับจัดสรรในครั้งนี้ ในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งได้จัดสรรเลขหมาย ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด จำนวน 14 ล้านเลขหมาย บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด จำนวน 8 ล้านเลขหมาย และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จำนวน 4 ล้านเลขหมาย
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับผู้ประกอบการ 3G ครั้งนี้ กทค. พิจารณาจากข้อเสนอแผนธุรกิจและแผนการตลาดของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมของผู้ใช้บริการของไทยที่ใช้บริการพรีเพดซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศที่มีมากถึง 90% และเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีการเปลี่ยนแปลงเลขหมายบ่อย
นอกจากนั้น ยังสะท้อนพฤติกรรมการผู้ใช้บริการที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความต้องการใช้เลขหมายหรือซิมเพิ่มเติม (เป็นเลขหมายที่ 2 หรือ 3) สำหรับการใช้แท็บเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน อีกทั้ง ยังสะท้อนถึงการเติบโตของการใช้งานเลขหมายในบริการลักษณะ Machine to Machine (M2M) ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันจำนวน เลขหมายที่คงเหลือสำหรับการจัดสรรโดยเฉพาะในหมวดเลขหมาย 09 มีเหลืออยู่ 82 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการในการใช้เลขหมายของผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกในระยะยาว ดังนั้น การจัดสรรเลขหมายในจำนวนดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ 3G มีเลขหมายพอเพียงกับความต้องการที่สะท้อนกับการวางแผนธุรกิจและแผนการตลาด และยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดและทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกหลากหลายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี จากการจัดสรรเลขหมายสำหรับผู้ให้บริการ 3G จำนวนรวม 26 ล้านเลขหมายดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้มีการจัดสรรไปแล้วทั้งระบบ 2G และ 3G มีจำนวนถึง 144 ล้านเลขหมาย แสดงให้เห็นทิศทางการพัฒนาและความต้องการในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th