Author Topic: แอปเปิลกำไรนิ่ง หุ้นตกฮวบ 11%  (Read 738 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของแอปเปิลในวันนี้คือความใหญ่โตของบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะถึงจุดอิ่มตัว?


ซีอีโอแอปเปิล ทิม คุก (Timothy D. Cook)


ตลอด 3 เดือน แอปเปิลสามารถจำหน่ายไอโฟนได้ 47.8 ล้านเครื่อง

หุ้นแอปเปิล (Apple) ตกฮวบ 11% เพราะนักลงทุนไม่ปลื้มผลประกอบการไตรมาสล่าสุด โดยแม้ยักษ์ใหญ่ผลไม้จะประกาศว่าสามารถจำหน่ายไอโฟนได้มากขึ้น 28% และจัดส่งไอแพดได้มากขึ้น 48% ในช่วงปลายปี 2012 ที่ผ่านมา แต่ตัวเลขกำไรสุทธิกลับไม่เพิ่มขึ้น ทำได้เพียงใกล้เคียงกับปีก่อน
       
       แอปเปิลประกาศว่าตลอดเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2012 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงมากแต่นักวิเคราะห์กลับมองว่าแอปเปิลกำลังประสบปัญหา เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว แอปเปิลระบุว่าสามารถจำหน่าย 2 สินค้าหลักอย่างไอโฟน (iPhone) และไอแพด (iPad) ได้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด แต่กลับทำกำไรได้เท่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะแอปเปิลต้องปรับลดราคาเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นในตลาด จนทำให้สัดส่วนกำไรในแต่ละผลิตภัณฑ์ลดลง
       
       ปัญหานี้ทำให้นักลงทุนหวั่นใจในอนาคตของแอปเปิล โดยอัตรากำไรหรือมาร์จิ้นของแอปเปิลอยู่ที่ 38.6% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 44.7% ทั้งหมดนี้ทำให้มูลค่าหุ้นแอปเปิลตกต่ำลงอย่างชัดเจน ซึ่งหากเทียบกับสถิติสูงสุดที่หุ้นแอปเปิลเคยทำไว้ 702.10 เหรียญเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จะพบว่ามูลค่าหุ้นแอปเปิลซึ่งล่าสุดตกไปอยู่ที่ 461.30 นั้นลดลงเป็นสัดส่วนมากกว่า 34%

ภาวะหุ้นตกของแอปเปิลนี้สะท้อนว่า ตัวเลขยอดขายกว่า 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่แอปเปิลทำได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีผลทำให้นักลงทุนมอบความมั่นใจให้บริษัทใหญ่อย่างแอปเปิล ตรงกันข้าม นโยบายการออกผลิตภัณฑ์กลับเรียกความสนใจจากนักลงทุนได้มากกว่า โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่ายังมีพื้นที่อีกมากที่แอปเปิลจะสามารถสร้างตลาดใหม่ได้ เช่นตลาดทีวีและตลาดระบบรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
       
       เรื่องนี้ซีอีโอแอปเปิล ทิม คุก (Timothy D. Cook) ไม่ขยายความต่อ โดยบอกเพียงว่าบริษัทพอใจกับผลิตภัณฑ์ที่แอปเปิลวางตลาดในขณะนี้แล้ว
       
       นักวิเคราะห์นั้นมองว่าเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่แอปเปิลจะต้องจมอยู่ในภาวะหุ้นตก โดยมาร์ก มอสโกวิตช์ (Mark Moskowitz) นักวิเคราะห์ของบริษัท J. P. Morgan Securities นั้นเปิดเผยว่ายอดจำหน่ายสินค้าแอปเปิลช่วงเทศกาลปลายปีนั้นเป็นไปตามที่เขาคาดหมาย แม้ว่าตัวเลขที่ออกมาจะพลาดเป้าของบริษัทวิจัยสำนักอื่นก็ตาม
       
       ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของแอปเปิลในวันนี้คือความใหญ่โตของบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะถึงจุดอิ่มตัว เรื่องนี้ A. M. Sacconaghi นักวิเคราะห์จากบริษัท Bernstein Research เคยคำนวณว่าหากแอปเปิลเติบโตในสัดส่วนเดิมไปอีก 5 ปี รายรับรวมของแอปเปิลจะคิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเลขจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของออสเตรเลียทั้งประเทศ


การเปรียบเทียบนี้ทำให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่บริษัทใหญ่จะเข้าสู่การเติบโตคงที่ ไปจนถึงภาวะชะลอตัว ทั้งหมดนี้ทำให้มูลค่าหุ้นแอปเปิลมีโอกาสตกต่ำลงอีก 25% หรือมากกว่านั้น
       
       สำหรับผลประกอบการน่าสนใจที่แอปเปิลประกาศไว้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2012 ถือเป็นไตรมาสแรกของปีการเงิน 2013 ของแอปเปิล) แอปเปิลระบุว่าสามารถทำรายได้รวม 5.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงิน 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่ทำได้ 46.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดขาย 61% มาจากพื้นที่นอกสหรัฐอเมริกา
       
       ที่น่าสนใจคือ แอปเปิลระบุว่าตลอด 3 เดือน แอปเปิลสามารถจำหน่ายไอโฟนได้ 47.8 ล้านเครื่อง (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28%), ไอแพด 22.9 ล้านเครื่อง (เพิ่มขึ้น 48%) อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์แมคอินทอชกลับลดลงเหลือ 4.1 ล้านเครื่อง เช่นเดียวกับไอพ็อด (iPod) อุปกรณ์เล่นมัลติมีเดียที่ยอดจำหน่ายลดลงเหลือ 12.7 ล้านเครื่องในไตรมาสที่ผ่านมา
       
       ผู้บริหารแอปเปิลชี้แจงว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์แมคอินทอชที่หดตัวนั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสินค้าผลิตไม่ทัน อย่างไรก็ตาม บริการเสริมอย่างร้านดาวน์โหลดคอนเทนต์ iTunes สามารถทำรายได้เติบโตเป็น 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉพาะ App Store พบว่ามียอดดาวน์โหลดสูงกว่า 2 พันล้านครั้ง ท่ามกลางบัญชีผู้ใช้บริการ iCloud มากกว่า 250 ล้านบัญชี
       
       ปัจจุบัน แอปเปิลมีพนักงานรวม 80,000 คนทั่วโลก

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)