Author Topic: “กลุ่มสามารถ” ตั้งธงปี 56 ฟัน 3 หมื่นลบ. โต 50%  (Read 739 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ในงานเปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นหนึ่งของไอ-โมบาย

กลุ่มสามารถ มั่นใจปีนี้ฟันรายได้รวม 30,000 ล้านบาท เติบโต 50% ขีดเส้นก.พ.นี้เซ็น MVNO ฉบับใหม่คาดลูกค้าทะลุ 1.2 ล้านเลขหมาย พร้อมดีล 3G เฟส 2 ต่อบนเป้าหมายเป็นผู้ติดตั้งสถานีฐานให้ได้ 50% ของโครงการทั้งหมด แย้มเตรียมควักกระเป๋า 1,000 ล้านบาทหวังเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายทีวีดิจิตอล
       
       นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในปี 2556 กลุ่มสามารถตั้งเป้าหมายรายได้รวม 30,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากสาย ICT Solutions 15,000 ล้านบาท Mobile Multi-media 11,000 ล้านบาท สายธุรกิจ Related Businesses 2,400 ล้านบาท และสายธุรกิจ Utility Services อีก 1,655 ล้านบาท
       
       สาย ICT Solutions นำโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท คาดว่ากำไรปี 56 จะเพิ่มขึ้น 70% เนื่องจากปัจจุบันสามารถฯมีงานสะสมในมือ (Backlog) มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้าลุยงานใหญ่ที่รอการประมูลรวมมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย โครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที รวมถึงโครงการต่างๆของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมสรรพากร, กรุงเทพมหานคร และอื่นๆ
       
       สายธุรกิจ Mobile Multi-media นำโดย บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้ารายได้ที่ 11,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 200% โดยปี 56 จะเป็นปีแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจโมบาย และคอนเทนต์ อันเนื่องมาจากการขยายเครือข่าย 3G อย่างจริงจัง และรวดเร็วของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายที่อยู่ในตลาด ส่งผลให้เกิดโอกาสทางการตลาดอย่างมหาศาล
       
       ***เซ็น MVNO ฉบับใหม่ ก.พ.นี้
       
       นายวัฒน์ชัย กล่าวว่าภายในเดือนก.พ.56นี้ กลุ่มสามารถจะลงนามในสัญญาฉบับใหม่กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการเป็น MVNO ภายใต้ i-mobile 3GX ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าทีโอทีจะมีความจุของโครงข่ายทั้งหมด 7.2 ล้านเลขหมาย ซึ่งสามารถจะลงนามในสัญญาระยะยาว 12 ปีโดยจะขอทำตลาดรวม 2.8 ล้านเลขหมายหรือคิดเป็น 40% ของโครงข่ายทั้งหมด พร้อมทั้งคาดหวังจะเพิ่มลูกค้าอีก 1 ล้านราย จากเดิมที่มี 2-3 แสนรายในขณะนี้
       
       ช่วงปลายปี 55 ที่ผ่านมา สามารถระบุว่ามีการติดตั้งสถานีฐาน 3G เฟส 1 ให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว 3,800 สถานีฐาน และในเดือนก.พ.56 จะมีการติดตั้งเป็น 4,000 สถานีฐาน โดยคาดว่าจะครบ 5,320 สถานีฐานในเฟส 1 ภายในเดือนพ.ค.นี้ จุดนี้บริษัทจะเดินหน้าติดตั้ง 3G ทีโอทีในเฟส 2 อีก 15,000 สถานีฐาน ซึ่งมีมูลค่าทั้งโครงการ 30,000 ล้านบาท โดยสามารถตั้งเป้าเป็นผู้ติดตั้งสถานีฐานให้ได้ 50% ของโครงการทั้งหมด ซึ่งจะมีการประมูลช่วงเดือนเม.ย.นี้ และจะเริ่มดำเนินการติดตั้งได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้
       
       “ในวันที่ 24 ก.พ. ทีโอทีจะเปิดให้บริการ 3G อีกครั้งหนึ่ง โดยสามารถอยู่ระหว่างร่วมกับทีโอทีในการทดลองเปิดให้บริการ 4G ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นความถี่ 2.3GHz ซึ่งบริษัทมีแผนจะติดตั้งสถานีฐาน 4G จำนวน 200 แห่งในกรุงเทพฯ”
       
       อย่างไรก็ดี บริษัทตั้งเป้ายอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในปี 56 ไว้จำนวน 3.2 ล้านเครื่อง คิดเป็นสมาร์ทโฟน 2.2 ล้านเครื่อง หรือ 70% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด ซึ่งล่าสุด สามารถไอ-โมบายประกาศเปิดตัว iQ6 ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นตัวไฮไลท์ในไตรมาสที่ 1 เนื่องจากมีความโดดเด่นด้วยหน้าจอไอพีเอส ภาพคมชัดระดับ HD และกันรอยขีดข่วน ในราคาสุดคุ้มตามสไตล์ไอ-โมบาย
       
       “ปัจจุบัน มูลค่าตลาดรวมเครื่องลูกข่ายมีประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท สมาร์ทโฟนนั้นกินแชร์อยู่ 45% ของมูลค่ารวม“
       
       ที่ผ่านมา ธุรกิจ MVNO ภายใต้ i-mobile 3GX มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ด้วยคุณภาพสัญญาณที่พัฒนาขึ้นและการอัดฉีดโปรโมชั่น คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 1.2 ล้านรายในสิ้นปี 56 สำหรับแผนงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มโมบาย-มัลติมีเดียในระยะยาว สามารถได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปี ผลิตภัณฑ์ และบริการของกลุ่มโมบาย-มัลติมีเดีย อาทิ โทรศัพท์มือถือ บริการคอนเทนต์ และบริการ MVNO จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตแบบ Mobility ของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยจะมุ่งเน้นที่กลุ่ม Mass ซึ่งมีฐานตลาดขนาดใหญ่
       
       ขณะที่สายธุรกิจ Related Businesses ตั้งเป้ารายได้ 2,400 ล้านบาท จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ จำกัด ผู้ให้บริการ Contact Center มาตรฐานโลก โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และเตรียมขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศปลายไตรมาสที่ 2 ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว ต่อไป
       
       ส่วนด้านบริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้ขยายไลน์การผลิตจากเสาอากาศและจานดาวเทียมไปสู่อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญานอื่นๆ เช่น กล่องรับสัญญานดิจิตอลทีวี สามารถมั่นใจว่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับบริษัท วิชั่นแอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท และมีงานที่จะเข้าประมูลในปีนี้ มูลค่าราว 1,200 ล้านบาท
       
       ***ควักพันล้านบาทลุยทีวีดิจิตอล
       
       นายวัฒน์ชัย กล่าวว่าในปีนี้กลุ่มสามารถยังเห็นถึงโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิตอล จุดนี้ทำให้กลุ่มสามารถตั้งเป้าขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายทีวีดิจิตอล ทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ยื่นแบบคำขอ เพื่อเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายของทีวีดิจิตอล โดยตั้งเป้างบการลงทุนในส่วนดังกล่าวไว้ที่ 800-1,000 ล้านบาท คาดจะถึงจุดคุ้มทุนได้ใน 2-3 ปี เมื่อมีช่องทีวีดิจิตอลเปิดให้บริการครบทั้ง 48 ช่อง
       
       อย่างไรก็ตามกลุ่มสามารถยังได้ตั้งเป้าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (เซ็ตท็อป บ็อกซ์) เพื่อให้บริการในการรับชมทีวีดิจิตอล ซึ่งกลุ่มสามารถได้เตรียมจำหน่ายไว้ 2 รุ่นด้วยกัน ประกอบด้วยกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลแบบปกติในราคาราว 1,000 บาท และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลสำหรับสมาร์ททีวีที่สามารถรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย (wi-fi) ได้ ราคาราว 2,000 บาท โดยกล่องทั้ง 2 รุ่น กลุ่มสามารถมีความพร้อมในการจัดจำหน่ายทันทีที่มีการเริ่มใช้งานทีวีดิจิตอล รวมทั้งเตรียมนำเข้าราว 1 ล้านกล่อง เมื่อ กสทช. อนุมัติการออกใบอนุญาตให้นำเข้ากล่องรับสัญญาณ ทั้งนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิตอล กลุ่มสามารถจะดำเนินการในนามบริษัทลูก "สามารถดิจิตอลทีวี"
       
       “ในปีนี้จะเป็นปีทองของแห่งการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีในตัวทีวีดิจิตอล ดังนั้นเราจึงจะเข้าไปขอใบอนุญาตประเภทผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลกับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจบนช่องทีวีดิจิตอลต่อไป”
       
       นอกจากนี้ ในสายธุรกิจ Utility Services สามารถตั้งเป้ารายได้ไว้ 1,655 ล้านบาท โดยนอกจากจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส จำกัด (CATS) และบริษัท Kampot Power Plant จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนแก่โรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่ประเทศกัมพูชาแล้ว ยังมีความคืบหน้าในการขยายธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและพลังงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การควบรวมกิจการบริษัท เทด้า จำกัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งต่อไปจะเป็นหัวหอกสำคัญในการขยายธุรกิจด้านพลังงานทั้งนี้ มีแผนในการเข้าร่วมประมูลโครงการมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี
       
       “เรามั่นใจด้วยการตั้งเป้ารายได้ในปี 56 แบบก้าวกระโดดถึง 30,000 ล้านบาท และในแผนงานของทุกธุรกิจในเครือ ก็ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ประจำและการเติบโตแบบยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กลุ่มสามารถจะต้องมีรายได้ประจำไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท”
       
       นายวัฒน์ชัยกล่าวอีกว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา กลุ่มสามารถมีอัตราการเติบโตของกำไรที่เพิ่มขึ้นทะลุ 1,000 ล้านบาท และการเติบโตของรายได้ประจำ ซึ่งในปี 55 บริษัทมีรายได้ประจำถึง 5,400 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของรายได้รวม ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจโมบายก็ส่อแววฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดนับจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยยอดขายสมาร์ทโฟนแบรนด์ไอ-โมบายนั้นทะลุหลัก 400,000 เครื่องไปแล้วช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55
       
       ส่วนธุรกิจด้านไอซีที แม้บางโครงการจะถูกเลื่อนหรือมีความล่าช้า แต่ก็ยังสามารถกวาดงานเข้ามาในมือรวมมูลค่าสัญญากว่า 7,000 ล้านบาทในปี 55
       
       Company Related Link :
       Samart

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)