Author Topic: กสทช. รุกหนักปี 56 กำหนดกรอบเวลาประมูล 4G-ทีวีดิจิตอล  (Read 812 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      กสทช.เผยภารกิจหนักปี 2556 ด้านโทรคมนาคม “พ.อ.เศรษฐพงค์” ชี้เดือน ก.พ.นี้เห็นทรานซิชันพีเรียด 1,800 MHz และแนวทางการประมูลใบอนุญาตกิจการดาวเทียม พร้อมระบุปีนี้ยังไม่มีการประมูล 4G ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ “พ.อ.นที” เร่งประมูลทีวีดิจิตอลภายในเดือน ก.ค.นี้ พร้อมศึกษาแผนเปลี่ยนผ่านวิทยุสู่ระบบดิจิตอล
       
       พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงผลงานในรอบปีที่ผ่านมาว่า ได้จัดทำ และประกาศใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ พ.ศ. 2555 แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ขณะที่ในปี 2556 นี้กสทช.จะมุ่งเน้นในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในกิจการ กสท.และ กทค. โดยเฉพาะภารกิจตามยุทธศาสตร์ทั้ง 2 ฝั่ง
       
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ภายในปี 2556 นี้คงจะยังไม่เห็นการเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) 4G บนเทคโนโลยี LTE ในย่านความถี่ 1,800 MHz อย่างแน่นอน แต่ในครึ่งปีหลังจะได้เห็นเพียงความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบเวลาการเปิดประมูลไลเซนส์ 4G เท่านั้น
       
       ขณะเดียวกัน ในเดือน ก.พ.นี้คณะอนุกรรมการที่วางโรดแมปการเปลี่ยนผ่าน และคณะอนุกรรมการวางแผนการประมูลคลื่น 1,800 MHz จะสรุปแนวทางการดำเนินการส่งมาให้บอร์ด กทค.รับทราบ ซึ่งในรายละเอียดจะประกอบด้วย 1. การกำหนดช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน (ทรานซิชันพีเรียด) 2. วิธีการปฏิบัติ การส่งคืนคลื่นความถี่ว่าจะดำเนินการเป็นนิติกรรม คือส่งคืนคลื่นมายัง กสทช.ด้วยวิธีใด 3. การแบ่งจำนวนคลื่นความถี่ที่ได้รับของทรูมูฟ และดีพีซีรายละ 12.5 MHz ออกมาประมูลว่าจะอยู่ในจำนวนเท่าไร 4. การกำหนดวิธีการประมูล และ 5. การกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 1,800 MHz
       
       “เราเชื่อว่าการประมูลคลื่น 1,800 MHz คงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทันภายในปีนี้แน่นอน เพราะคลื่นไม่ได้อยู่กับเราเหมือน 3G ดังนั้นจึงมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ซึ่งความเป็นไปได้น่าจะได้เห็นราวๆ กลางปี 2557 หรือไตรมาส 3 เป็นต้นไปที่จะเริ่มกระบวนการประมูลได้ ซึ่งก่อนจะถึงการประมูลในปีหน้า การเปลี่ยนผ่านคลื่น และแนวทางการปฏิบัติ กทค.จะออกเป็นคำสั่งทางปกครอง เกี่ยวกับการคืนคลื่นความถี่”
       
       ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การประมูล 4G ล่าช้าคือปัญหาสิทธิการถือครองคลื่นความถี่ 1,800 MHz ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานนั้น กสทช.ก็ยังยืนยันในสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากในอนาคต กสท หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) จะขอใช้คลื่นในย่านดังกล่าวต่อไป ก็ต้องมีการหารือกันในรูปแบบเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าจะนำคลื่นดังกล่าวไปดำเนินการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นแล้ว เมื่อเดือน ก.ย.นี้สัมปทานสิ้นสุดลง คลื่นในย่าน 1,800 MHz จำนวนรวมกัน 25 MHz ต้องส่งมาที่ กสทช.เท่านั้น หลังจากนั้น หากไอซีทีหรือรัฐบาลต้องการคลื่นบางส่วนไปทำอะไรก็ต้องมาหารือร่วมกัน
       
       อย่างไรก็ตาม กสทช.ต้องการจะจัดสรรคลื่นความถี่ 1,800 MHz ใหม่หลังจากได้รับคืนคลื่นความถี่จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่รับมอบคืนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนที่จะหมดสัมปทานลงในเดือน ก.ย.นี้ ประกอบด้วย บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด
       
       พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสารในกิจการโทรคมนาคมนั้น ภายในเดือน ก.พ.เช่นเดียวกันที่คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตกิจการดาวเทียมจะส่งรายละเอียด แนวทางการประมูลใบอนุญาตกิจการดาวเทียมมายัง กสทช.
       
       นอกจากนี้รวมถึงการดูแลผู้บริโภคในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (อินเตอร์คอนเนกชันชาร์จ หรือไอซี) เป็นอัตราเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งจะเข้าบอร์ด กทค.ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะออกเป็นค่าไอซีชั่วคราวก่อนในราคาประมาณ 50 สตางค์ต่อนาที ก่อนจะออกเป็นค่าไอซีกลางต่อไปทั้งบนระบบ 2G และ 3G เนื่องจากราคากลางจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกราว 5-6 เดือน
       
       “ในตอนนี้เรายังไม่ได้สรุปตัวเลขค่าไอซีกลางแต่ก็น่าจะอยู่ราว 45-50 สตางค์ต่อนาที ซึ่งเรื่องนี้หากมีการบังคับใช้จะออกเป็นอัตราชั่วคราวก่อน หลังจากที่บอร์ดลงมติอนุมัติ จากนั้นจะกำหนดเป็นอัตราถาวรได้ภายในกลางปีนี้ เพราะจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ให้แล้วเสร็จก่อน”
       
       อีกทั้ง กสทช.ยังได้ประเมินมูลค่าตลาดโทรคมนาคม เทียบเคียงกับประมาณการเศรษฐกิจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าปี พ.ศ. 2555 จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าของตลาดบริการโทรคมนาคมเมื่อเทียบกับขนาดหรือมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาประจำปี (จีดีพี) เท่ากับ 2.39% หรือ 5.56% ของจีดีพี ณ ราคาคงที่ โดยเป็นมูลค่าตลาดที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 9.7%
       
       ขณะที่ตลาดบริการโทรคมนาคมหลักที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสัดส่วน 76% ในขณะที่มูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์ประจำที่ (ฟิกซ์ไลน์) และบริการอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ 13% และ 11% ตามลำดับ และในปี 2559 จะเติบโตสูงเพิ่มขึ้นถึง 5.4 แสนล้านบาท
       
       โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตจากเศรษฐกิจไทยที่แสดงสัญญาณของการฟื้นตัวจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนในด้านการผลิต
       
       อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนของภาคบริการโทรคมนาคมมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีสัดส่วนของมูลค่าตลาดสูงถึง 76% ของตลาดโทรคมนาคม หรือมูลค่าประมาณ 2.06 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ของบริการในส่วนของบริการทางเสียง (วอยซ์) 76% และบริการที่มิใช่ทางเสียง (นอนวอยซ์) 24% ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 30% จากปีที่ผ่านมา
       
       ***กสท.เดินหน้าเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล
       
       พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หลังจากที่ไม่มีองค์กรกำกับดูแลในกิจการนี้มาเป็นเวลา 15 ปี สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ไขสัญญาที่มีมาตั้งแต่ 15 ปี โดยหลังจากมีบอร์ด กสท.ได้ดำเนินการวางโครงสร้างระบบในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งได้ทำมาทั้งหมดตั้งแต่กลางปี 2555 ที่ผ่านมา
       
       โดยการดำเนินงานของ กสท.ในปี 2555 ที่ผ่านมาตาม 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยได้กำหนดลักษณะและประเภทในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นรูปแบบสากล 2. การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 3. การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4. การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร 5. การพัฒนาคุณภาพการประกอบกิจการ 6. การเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล
       
       ในขณะที่การดำเนินงานของ กสท.ในปี 2556 จะสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผ่นแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) โดยในเดือน เม.ย. 2556 จะเป็นเรื่องของกระบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล โดยคลื่นความถี่ที่ต้องมีการประมูลมีทั้งหมด 24 ช่องธุรกิจ แบ่งเป็นประเภทความละเอียดสูง 4 ช่อง และช่องความละเอียดมาตรฐาน 20 ช่อง แบ่งเป็นช่องข่าว ช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว และช่องทั่วไป จากทั้งหมดทีวีดิจิตอลมี 48 ช่อง โดยอีก 24 ช่องแบ่งเป็นประเภททีวีสาธารณะ 12 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ที่ไม่ต้องมีการประมูลแต่เป็นการประกวดราคาแทนตามลำดับ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลคาดว่าสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 2/2556 หรือราวเดือน ก.ค. 2556
       
       ทั้งนี้อยู่ในช่วงระหว่างการศึกษาแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิตอล โดยจะต้องเริ่มจากการศึกษามาตราฐาน โครงสร้างตลาด แผนการเปลี่ยนผ่านจากวิทยุเป็นระบบดิจิตอลจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยในเดือน มี.ค. 2556 จะเรียกผู้ประกอบการวิทยุและผู้ประกอบการรายเดิมเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและทัศนคติในแนวทางการเปลี่ยนผ่านระบบ เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะเปลี่ยนผ่านระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิตอล เนื่องจากที่ผ่านมามีประเทศออสเตรียเพียงประเทศเดียวที่เปลี่ยนผ่านระบบดังกล่าวได้ดี
       
       อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานีวิทยุเยอะกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างการศึกษา และในปัจจุบันสถานีวิทยุก็มีการรบกวนคลื่นกันเอง โดยตามแผนหากจะต้องเปลี่ยนให้เป็นระบบดิจิตอล จะเป็นการนำระบบ VHF ที่เหลืออยู่ คือ 2, 4, 6 มาทดลองใช้ แต่ในอนาคตถ้าเป็นการเปลี่ยนระบบทั้งหมดจะเป็นการนำระบบ VHF ทั้งหมดมาใช้
       
       “การเปลี่ยนผ่านวิทยุระบบดิจิตอลจะต้องดูสภาพตลาดอุตสาหกรรมจะอยู่รอดได้หรือไม่ และให้เข้ากับสภาพตลาดในปัจจุบัน ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ จะต้องนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง โดย กสทช.เชื่อว่าสื่อวิทยุเป็นสื่อที่อยู่กับคนไทยมานาน และประชาชนคนไทยก็ยังใช้วิทยุ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด”
       
       Company Relate Link :
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)