Author Topic: นำร่องใช้ "เบรนคลาวด์ โซลูชั่น" เพิ่มศักยภาพการเรียนบนแท็บเล็ต  (Read 872 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ธันธเนศ สมบูรณ์ทรัพย์ ประธานบริหารโครงการฯ


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเยี่ยมชมโครงการนำร่องใช้ "เบรนคลาวด์ โซลูชั่น" บนแท็บเล็ต


เด็ก ๆ ทดลองใช้ เบรนคลาวด์ โซลูชั่น บนแท็บเล็ต


เสารับ-ส่งสัญญาณ

ผ่านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแจกให้แก่นักเรียนชั้นป.1 ทั่วประเทศกว่า 8 แสนคน แต่นโยบายนี้กลับยังคงมีปัญหาที่ค่อย ๆ ผุดออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะระบบควบคุมการใช้งานแท็บเล็ตในชั้นเรียน ส่งผลให้เด็กแอบครูเข้าไปเล่นเกม หรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลบอกว่ามีการบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไว้แล้วก็ตาม
       
       กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมด้วย นางฉวีวรรณ คลังแสง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการนำร่องทดลองใช้ "เบรนคลาวด์ โซลูชั่น" ที่โรงเรียนวัดเสถียรรัตนาราม จ.นครปฐม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัฉริยะ และอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนผ่านแท็บเล็ตป.1 ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการล็อกหน้าจอในระหว่างเรียนการสอน ป้องกันเด็กแอบเข้าไปเล่นเกม หรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
       
       ธันธเนศ สมบูรณ์ทรัพย์ ประธานบริหารโครงการฯ กล่าวว่า โครงการทดลองระบบเบรนคลาวด์ โซลูชั่น เป็นการนำสองเทคโนโลยีสำคัญมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของเครื่องแท็บเล็ต พีซี และระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
       
       "เบรนคลาวด์ โซลูชั่น ประกอบด้วย การทดสอบอุปกรณ์ เบรนคลาวด์ เวอร์ชวลไฟเบอร์ ซึ่งทำหน้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากเสาสัญญาณของทีโอที มาสู่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และ 2. การใช้งานระบบการจัดการการเรียนรู้ ภายใต้ชื่อระบบ เบรนคลาวด์ แพล็ตฟอร์ม ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ คือ ระบบการจัดการการเรียนรู้ผ่าน คลาวด์ คอมพิวติ้ง หรือที่เรียกว่า เบรนคลาวด์ แอลเอ็มเอส ซึ่งได้มีการพัฒนาให้กระทรวงศึกษาสามารถจัดการและคัดกรองเนื้อหา รวมถึงออกแบบแผนการเรียนการสอนและบทเรียนสำหรับนักเรียนได้โดยตรง โดยการจัดการแผนการเรียนการสอนเนื้อหาและบทเรียนได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกระทรวง ระดับโรงเรียนและระดับครูผู้สอน"
       
       สำหรับการจัดการระดับกระทรวงนั้น ธันธเนศ อธิบายว่า สามารถช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุ แก้ไข หรือลบเนื้อหาและบทเรียนได้โดยตรง โดยไม่ต้องให้โรงเรียนในโครงการจัดส่งคืนเครื่องแท็บเล็ต พีซี กลับมายังกระทรวงทุกครั้งที่จะดำเนินการบรรจุเนื้อหาและบทเรียนใหม่
       
       ส่วนในระดับโรงเรียนนั้น สามารถออกแบบบทเรียน หรือเนื้อหาการเรียนการสอนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงศึกษากำหนด ขณะที่การจัดการในระดับครูผู้สอน มีระบบการจัดการห้องเรียนอัจฉริยะ เช่น การควบคุมแท็บเล็ตด้วยจอคอนทอลเลอร์ เซอร์เฟส หรือด้วยคอมพิวเตอร์ในระหว่างการเรียนการสอน เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถควบคุมการใช้งานแท็บเล็ต พีซีของนักเรียนในชั้นเรียน
       
       "ในส่วนนี้ มีความพิเศษตรงที่คุณครูผู้สอนสามารถทำการส่งไฟล์หรือเนื้อหาเข้าสู่เครื่องแท็บเล็ต พีซี ของนักเรียนแต่ละคนได้โดยตรง รวมทั้งล็อกหน้าจอนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนได้ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสม หรือเล่นเกมส์ในระหว่างการเรียนได้" ประธานบริหารโครงการฯ เผยถึงข้อดี
       
       ในส่วนที่ 2 ของเบรนคลาวด์ แพล็ตฟอร์มนั้น คือการนำระบบ เบรนคลาวด์ คอนเนก ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการนำคุณภาพการศึกษาและทรัพยากรครูของโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐในกรุงเทพมหานครไปสู่โรงเรียนในต่างจังหวัด โดยการแบ่งปันทรัพยากรครู โดยเฉพาะครูที่เป็นเจ้าของภาษา จะทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นโดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่น้อยลง
       
       ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมถึงการเริ่มนำร่องใช้แพล็ตฟอร์ม เบรนคลาวด์ โซลูชั่นว่า ช่วยให้การใช้งานแท็บเล็ตมีความยืดหยุ่นและใช้งานเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการเรียนการสอนทางไกลที่ช่วยกระจายองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่ชายขอบ ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีกำลังเร่งดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่โรงเรียนทั้งหมด 31,334 แห่ง เพื่อรองรับการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตแบบออนไลน์ในปีการศึกษาหน้าด้วย
       
       "ในปีการศึกษา 2556 เราจะมีการเชื่อมต่อโรงเรียนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละสภาพแวดล้อม ซึ่งเราจะเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในงบประมาณที่ถูกที่สุด อย่างเทคโนโลยีที่นำร่องอยู่นี้ ต้องขอบอกว่า เป็นเรื่องของซีเอสอาร์ แต่กระทรวงไอซีทีก็มีความยินดีที่จะมาทดสอบเพื่อนำมาประยุกต์ในโครงการสมาร์ทเน็ทเวิร์กของเรา" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
       
       ฉวีวรรณ คลังแสง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ไอซีที และบริษัท โอเพ่นเฟซ เป็นเสมือนการติดอาวุธเพิ่มศักยภาพการใช้งานแท็บเล็ต และช่วยให้กระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการบรรจุเนื้อหาๆใหม่ผ่านระบบคลาวด์ นอกจากนี้ ยังยืดหยุ่นในการออกแบบเนื้อหาการเรียนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดไว้ ช่วยให้แต่ละโรงเรียนดีไซน์หลักสูตรให้มีความเฉพาะเหมาะสมกับพื้นที่และ วัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองได้อีกด้วย
       
       ส่วน กชพรรณ ทองร้อยยิ่ง หรือครูเอส ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดเสถียรรัตนาราม ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากได้ทดลองใช้ร่วมกับเด็กนักเรียน พบว่า มีประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนมาก เพราะนอกจากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ในด้านการใช้งานในห้องเรียน สามารถล็อกหน้าจอนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนได้ ทำให้นักเรียนแต่ละคน ไม่สามารถเปิดเข้าไปเล่นเกม หรือเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ในระหว่างการสอนได้ ซึ่งก่อนหน้ายอมรับว่า มีปัญหามาก เนื่องจากเด็กหลายคนซน และไม่เชื่อฟัง ทำให้การควบคุมการใช้แท็บเล็ตระหว่างเรียนเป็นเรื่องยาก
       
       ด้านเด็ก ๆ ที่ได้ทดลองใช้อย่าง ปาริฉัตร น้ำใจสุข นักเรียนชั้นป.1 โรงเรียนวัดเสถียรรัตนาราม บอกว่า เป็นสื่อที่ดี และมีเกมการศึกษาให้เล่นมากมาย เช่น เกมฝึกการสังเกตด้วยการจับผิดภาพ เกมคำศัพท์ เป็นต้น รวมไปถึงเนื้อหาการสอนที่น่าสนใจ สามารถค้นคว้าหาความรู้ไปพร้อม ๆ กับครูได้ เช่นเดียวกับ ธีรภัทร เพียรโป้ยสวน นักเรียนชั้นเดียวกัน บอกว่า เป็นระบบที่ช่วยให้การเรียนดูน่าสนใจ โดยเฉพาะการเรียนผ่านระบบที่มีการเชื่อมต่อกับโรงเรียนเครือข่ายในกรุงเทพฯ ทำให้รู้สึกว่าได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น
       
       อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาทดลองระบบ 5 เดือนเริ่มจากเดือนพ.ย. 55 - มี.ค. 56 โดยมีโรงเรียนวัดเสถียรรัตนาราม ต.ศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐมเป็นแห่งแรก และหลังจากนั้นจะมีเข้าร่วมอีก 5 โรงเรียนรวมเป็นจำนวน 6 โรงเรียนใน จ.นครปฐม และจะประเมินสรุปผลโครงการในเดือนเดือนเมษายน 2556 ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การนำร่องใช้ระบบดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงแค่การขายของ หรือจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยได้จริงๆ
       
       Related Link :
       โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
6678 Views
Last post October 21, 2010, 05:59:35 PM
by Nick
0 Replies
8401 Views
Last post October 23, 2010, 12:51:34 PM
by Nick
0 Replies
8166 Views
Last post January 13, 2011, 04:29:26 PM
by Nick
0 Replies
5768 Views
Last post February 27, 2011, 11:13:31 PM
by Nick
0 Replies
7248 Views
Last post March 11, 2011, 04:59:35 PM
by Nick
0 Replies
5416 Views
Last post January 18, 2012, 02:03:34 PM
by Nick
0 Replies
6857 Views
Last post May 15, 2012, 09:59:24 PM
by Nick
0 Replies
4680 Views
Last post July 13, 2012, 05:12:23 PM
by Nick
0 Replies
4982 Views
Last post September 10, 2012, 02:15:49 PM
by Nick
0 Replies
5526 Views
Last post December 02, 2012, 04:31:30 PM
by Nick