ภาพประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคมไทย ตัวแทนของ 3 โอเปอเรเตอร์ไทยร่วมจับมือระหว่างการประมูล 3G เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา เอไอเอส-ดีแทค-ทรู ตบเท้าชี้แจงศาลปกครอง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องล้มประมูล 3G เอไอเอสปัดให้สัมภาษณ์ ด้านดีแทคไม่กังวลไต่สวน แต่กังวลได้ใบอนุญาตช้า ทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสใช้ 3Gแต่หากศาลคุ้มครองถือเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม ส่วนทรูโวยหลายประเด็นในข้อกล่าวหาไม่มีหลักฐาน มีแค่ข้อสงสัยเท่านั้น เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ศาลปกครองกลาง ได้มีการไต่สวนคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้เพิกถอนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3Gโดยเป็นการไต่สวน 3 บริษัทที่มีการรับรองผลการประมูลจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไปแล้ว ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัดในเครือเอไอเอส บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู หลังจากที่มีการไต่สวนผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานกสทช.ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 และ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยการไต่สวนฝ่ายต่างๆ ก็เพื่อที่ศาลจะได้พิจารณาว่าศาลจะกำหนดมาตราการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาคือสั่งระงับการออกใบอนุญาต 3Gไว้ก่อนตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอหรือไม่ และจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
***เอไอเอสเงียบ
ทั้งนี้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ได้เข้าชี้แจงต่อศาลเป็นรายแรกในเวลา10.30น.โดยได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงตุลาการเจ้าของสำนวนศาลปกครองกลางทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นายจิตชาย มุสิกบุตร ผู้บริหารฝ่ายกฎหมาย กลุ่ม อินทัช นายพงษ์อมร นิ่มพูลสวัสดิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการการเงิน เอไอเอสและนายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ และพัฒนา เอไอเอสโดยทั้งหมดปฏิเสธให้สัมภาษณ์ทั้งก่อนและหลังเข้าห้องพิจารณาคดี โดยใช้เวลาชี้แจงรวม 3 ชั่วโมง
***ดีแทคไม่กังวลไต่สวน
จากนั้นในเวลา 14.00 น.ซึ่งถือว่าช้ากว่ากำหนดเดิมประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงคิวของบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งมีนายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค และนายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฏหมาย เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงต่อศาล โดยได้เปิดเผยว่าการมาชี้แจงต่อศาลปกครองในวันนี้ไม่ได้เตรียมเอกสารหรือคำชี้แจงอะไรที่เป็นพิเศษ เนื่องจากจะใช้คำชี้แจงเดิมที่ดีแทคเคยพูดไปแล้วก่อนหน้านี้กับหลายหน่วยงานที่เรียกไปให้ข้อมูลเช่นเดียวกัน
'เราไม่มีความกังวลต่อการไต่สวนของศาลในวันนี้ แต่เรากังวลเรื่องการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1GHz มากกว่าว่าจะสามารถออกได้ทันกำหนด90วันหรือภายในวันที่ 18ม.ค.56 หรือไม่ เพราะหากกสทช.ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ทันขึ้นมา จะทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาสในการใช้บริการ 3G'
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นดีแทคคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 3G บนความถี่ 2.1GHz ได้ภายในไตรมาส 2 หรือช้าสุดครึ่งหลังของปี 2556 ได้ภายใต้เงื่อนไขดีแทคจะต้องได้ใบอนุญาตภายในวันที่ 18 ม.ค.2556 เท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้แผนการที่วางไว้อาจต้องเลื่อนออกไปจากเดิม ส่วนความล่าช้าในการออกใบอนุญาตนั้น ถือว่าเป็นภาระทางธุรกิจ แต่บริษัทก็เข้าใจถึงกระบวนการออกใบอนุญาตของกสทช. แต่หากศาลมีคำสั่งระงับการออกใบอนุญาตขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
'การเปิดให้บริการ3G จะทำให้ตลาดมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งวันนี้ไทยล่าช้าเรื่อง3G มาเป็นเวลา10ปีแล้วขณะที่ในประเทศอื่นๆ มี 3G ใช้งานไปแล้วกว่า12ปี'
ส่วนความคืบหน้าการลดค่าบริการ 3G ให้ผู้บริโภคทั้งประเภทเสียงและข้อมูล ที่ กสทช.กำหนดให้เอกชนทั้ง 3รายส่งภายใน 30 พ.ย.นั้นในส่วนของดีแทคในตอนนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลซึ่งยังไม่เสร็จ
***ทรูชี้ไม่มีหลักฐานเป็นแค่สงสัย
ขณะที่บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ซึ่งกำหนดเดิมจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในเวลาประมาณ 14.30 น. แต่ได้เลื่อนออกไป 1 ชม.เป็นเวลา 15.30 น. โดยมีนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะกลุ่มกฏหมายและนายนพปฏดล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กลุ่มทรู เข้าให้คำชี้แจง
นายอธึก เปิดเผยภายหลังเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองว่า เป็นการชี้แจงให้ศาลฟังย้อนหลังตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ประกาศ กสทช. ต่างๆเกี่ยวกับเรื่อง 3Gไปจนถึงการเสนอราคาในระหว่างประมูล ทั้งนี้มองว่าหลายประเด็นในข้อกล่าวหาไม่มีหลักฐานหรือมูลเหตุในการสอบสวนแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อสงสัยเท่านั้นซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ หากเกิดกรณีลักษณะดังกล่าวอีกการฟ้องร้องคดีเพียงแค่มีข้อสงสัยก็สามารถเรียกไต่สวนได้แล้ว
นอกจากนี้กสทช.เองก็ควรที่จะเร่งดำเนินการออกใบอนุญาต3G โดยทันทีในเมื่อเอกชนจ่ายเงินไปแล้ว กลับกันเอกชนได้ดำเนินการตามคำสั่งกสทช.มาโดยตลอด อาทิ กรณีการออกอัตราขั้นสูงชั่วคราวหรือการลดค่าบริการ3G ในส่วนของค่าบริการเสียง และข้อมูลลง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใดเลย แต่ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม
'ก่อนการประมูลเกิดขึ้น กสทช.ไม่ได้มีการระบุเลยว่า ต้องมีเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องรอฟังคำสั่งศาล หรือต้องรอกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำถูกลง 10-15% ให้เสร็จเสียก่อน ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่ กสทช. สร้างขึ้นใหม่ภายหลังทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามคงไม่มีการร้องขอเรื่องนี้ไปยังกสทช.โดยตรงด้วยตัวเอง เพราะกสทช.มีทีท่าไม่ค่อยฟังผู้ประกอบการ'
นอกจากนี้การที่กระบวนการทั้งหมดต้องหยุดชะงักไป ส่งผลเสียหายอย่างมากเฉพาะอย่างยิ่งด้านความน่าเชื่อถือ และด้านการเงิน เฉพาะอย่างยิ่งทั้ง 3 บริษัทที่เข้าประมูลนั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยแล้ว จะยิ่งส่งผลต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก ฝั่งผู้ประกอบการเองจะเดินหน้าลงทุนสร้างโครงข่ายอะไรก็ไม่สามารถทำได้เพราะ ต้องรอคำสั่งศาล กับรอ กสทช. ออกใบอนุญาตให้
ที่มา: manager.co.th