ซ้ายมือคือนาฬิกาใน iOS 6 ขวาคือนาฬิกาของการทางรถไฟแห่งชาติสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากถูกการทางรถไฟแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ร้องเรียนว่านาฬิกาในระบบปฏิบัติการ iOS 6 นั้นเหมือนกับนาฬิกาที่แขวนกับสถานีรถไฟชนิดถอดแบบมาทุกกระเบียด ล่าสุดมีรายงานว่าแอปเปิล (Apple) ตกลงจ่ายเงินค่าดีไซน์นาฬิกาสุดคลาสสิกนี้แล้วในราคา 21 ล้านเหรียญเพื่อให้ได้สิทธิใช้ดีไซน์นาฬิกานี้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าแอปเปิลตกลงหยุดฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีกับเอชทีซี (HTC) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติไต้หวันแล้ว หลังจากเป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
***จบคดีนาฬิกา*** เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แอปเปิลลงมือเปลี่ยนดีไซน์นาฬิกาในระบบปฏิบัติการ iOS 6 เวอร์ชันล่าสุด แต่ดีไซน์นี้ถูกร้องเรียนว่าลอกเลียนแบบนาฬิกาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการทางรถไฟแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Swiss Federal Railways ตามประวัติระบุว่านาฬิกานี้เป็นผลงานการออกแบบของ Hans Hilfiker ในช่วงปี 40 ทำให้ Swiss Federal Railways ไม่สามารถนิ่งนอนใจและประกาศพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย
ล่าสุดสำนัก Tages-Anzeiger สื่อท้องถิ่นในสวิตเซอร์แลนด์อ้างแหล่งข่าวไม่ระบุนาม ว่าแอปเปิลตกลงจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ดีไซน์นาฬิกานี้แล้วด้วยราคา 21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 651 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิ์ใช้นาฬิการูปแบบนี้บน iPad และ iPhone ต่อไป
ตัวเลข 21 ล้านเหรียญนี้ถูกวิจารณ์ว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสดที่แอปเปิลมีในมือมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่โลกยังไม่เคยเห็นแอปเปิลยอมจ่ายเงินค่าลิขสิทธิให้ใครรวดเร็วขนาดนี้มาก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายสำนักนึกย้อนไปสมัยที่อดีตซีอีโอผู้ก่อตั้งแอปเปิลอย่างสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบเมาส์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เฟซกราฟิกในคอมพิวเตอร์มาจากบริษัท Xerox ครั้งนั้นจ็อบส์อ้างคำพูดของปิกัสโซ (Picasso) ว่า “Good artists copy, great artists steal.” หรือศิลปินที่ดีนั้นลอกเลียนแบบ แต่ศิลปินที่ยิ่งใหญ่นั้นขโมยมาเลย
เงิน 21 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นคิดเป็น 20 ล้านฟรังก์สวิส จุดนี้เว็บไซต์ 9to5Mac ระบุว่าหากเฉลี่ยกับจำนวนอุปกรณ์ iOS 6 ที่มีราว 210 ล้านเครื่องทั่วโลก ก็เท่ากับแอปเปิลตกลงจ่ายเงินเฉลี่ย 10 เซ็นต์ต่อเครื่องเพื่อสิทธิการใช้งานนาฬิกาดีไซน์เก๋และแสนอมตะ
พร้อมกับข่าวนี้ มีรายงานว่าแอปเปิลตกลงหยุดฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีกับเอชทีซี (HTC) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติไต้หวันแล้ว โดยทั้ง 2 บริษัทประกาศทำข้อตกลงหยุดกระบวนการด้านกฎหมายทุกอย่างเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ตลอด 10 ปีนับจากนี้ โดยข้อตกลงจะมีผลต่อสิทธิบัตรทุกเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ครอบคลุมทุกสาขาทั่วโลกของแอปเปิลและเอชทีซี
***จบคดีกับ เอชทีซี ***สมาร์ทโฟนเอชทีซี วางคู่กับสมาร์ทโฟนจากแอปเปิล มหากาพย์ของการฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิลและเอชทีซีนั้นเริ่มจากแอปเปิลเป็นฝ่ายเริ่มฟ้องเอชทีซีเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2010 แอปเปิลกล่าวหาว่าเอชทีซีได้ละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีมากกว่า 20 รายการ เบื้องต้น คณะกรรมการการค้าต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ หรือ US International Trade Commission (ITC) ตัดสินว่าเอชทีซีมีความผิด แต่เอชทีซีหันมาแก้เกมด้วยการเข้าซื้อบริษัท S3 Graphics แล้วกลับมาดำเนินการฟ้องกลับแอปเปิลอีกครั้ง ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนั้นแอปเปิลเป็นฝ่ายแพ้คดี ก่อนที่ ITC จะพลิกคำตัดสินให้แอปเปิลเป็นฝ่ายชนะช่วงเดือนพฤศจิกายน 2011
กระทั่งเดือนธันวาคม 2011 คณะกรรมการ ITC ประกาศผลพิจารณาคดีว่าเอชทีซีมีความผิดละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีแอปเปิลจำนวน 2 รายการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจจับข้อมูลที่ทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) สามารถจำแนกได้แบบอัตโนมัติว่าข้อความใดเป็นอีเมลแอดเดรส, โทรศัพท์มือถือ หรือเป็นที่อยู่ธรรมดา เมื่อจำแนกได้ระบบจะย้ายข้อความเหล่านั้นไปยังปฏิทินงาน, หน้าโทร.ออก หรือแอปพลิเคชันแผนที่แบบอัตโนมัติเช่นกัน
คำตัดสินนี้มีผลต่ออุปกรณ์แอนดรอยด์ของเอชทีซีทุกรุ่นที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และจะถูกสั่งห้ามจำหน่ายในสหรัฐฯ หากไม่สามารถตกลงกับแอปเปิลได้ โดยกูเกิล (Google) เจ้าพ่อผู้อยู่เบื้องหลังแอนดรอยด์ประกาศชัดเจนว่ากำลังแก้ไขคุณสมบัติของแอนดรอยด์ครั้งใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์แอนดรอยด์ถูกฟ้องร้องไปได้มากกว่านี้
น่าเสียดายที่ไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขและข้อตกลงของทั้งคู่ โดยเฉพาะรายละเอียดด้านตัวเงินที่ทำให้ทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่บรรลุข้อตกลงกัน มีเพียงความเห็นจากปีเตอร์ โช (Peter Chou) ซีอีโอเอชทีซีที่ระบุว่า เอชทีซียินดีแก้ไขปัญหาและจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมมากกว่าการต่อสู้ทางกฎหมาย ขณะที่ทิม คุค (Tim Cook) ซีอีโอของแอปเปิลแถลงว่ายินดีที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเอชทีซีเช่นกัน
Company Related Link :
Apple
ที่มา: manager.co.th