การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กวัยกำลังโต เนื่องจากการนอนที่มีคุณภาพนั้น จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจ อีกทั้งมีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ และส่งให้โกรทฮอร์โมน หรือฮอร์โมนช่วยเร่งความสูงของเด็ก หลั่งได้ดีตอนกลางดึกขณะหลับสนิททว่าพัฒนาการด้านต่างๆ ที่กล่าวในข้างต้น อาจไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ถ้าการนอนของเด็กๆ มีปัญหา 'พญ.ศุภรัตนา คุณานุสนธิ์' กุมารแพทย์ ได้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหาการนอนของเด็ก ในวารสารของโรงพยาบาลเวชธานี โดยปัญหาที่พบบ่อย คือ หลับยาก เด็กมักให้พ่อแม่อุ้มกล่อม หรือติดดูดนมก่อนนอน เด็กจึงไม่ได้ถูกฝึกให้นอนได้ด้วยตนเอง
โดยธรรมชาติของเด็กเล็ก ขณะหลับจะต้องตื่นรู้สึกตัวเป็นพักๆ แต่พ่อแม่มักไม่เข้าใจ จึงเข้าไปตอบสนองต่อเด็กมากเกินเหตุ ด้วยการอุ้ม กล่อม หรือให้ดูดนมทุกครั้งที่เด็กร้อง ทำให้เด็กติดและไม่สามารถหลับได้ด้วยตัวของเขาเอง วิธีแก้ไข คือ ฝึกให้เด็กหลับได้เอง โดยจัดช่วงเวลาให้เด็กงีบและหลับเป็นเวลาที่แน่นอนสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรให้เด็กนอนบนเตียงตั้งแต่เริ่มง่วงหรือผ่อนคลาย ไม่ใช่ช่วงที่เด็กหลับแล้ว เพื่อให้เด็กรู้จักปรับตัวและบังคับตัวเองให้หลับ โดยไม่ต้องดูดนมหรืออุ้มเขย่า
นอกจากนี้ ไม่ควรสนใจเสียงร้องที่อาจมีขึ้นก่อนเด็กหลับ เพื่อให้ความทรงจำสุดท้ายของเด็กก่อนที่จะหลับ คือ การนอนได้เอง หากหลับไปแล้ว เด็กตื่นและร้องหานมอีก ควรประวิงเวลาให้นานที่สุด ก่อนจะยอมให้เด็กดูดมนอีกครั้งถ้าไม่หยุดร้องไห้
สำหรับระยะเวลาการนอนหลับของเด็กแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ทารกแรกเกิดควรนอน 16-17 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 3-6 เดือน ควรนอน 14 ชั่วโมงครึ่ง-15 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 6 เดือน-1ขวบ ควรนอน 13-14 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 2 ปี ให้นอนวันละ 13 ชั่วโมง เด็ก 3 ขวบ นอน 12 ชั่วโมงต่อวัน เด็กอายุ 4-5 ปี นอนให้ได้วันละ 10-11 ชั่วโมง หากอายุ 6-9 ปี ควรนอนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เด็ก 10-14 ปี ให้นอนไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัย และวัย 15-18 ปี ก็ไม่ควรนอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
และคำถามสำคัญอีกข้อว่า ควรให้เด็กนอนอยู่กับพ่อแม่ หรือให้เด็กนอนคนเดียวตามวัฒนธรรมตะวันตก พญ.ศุภรัตนา ระบุว่า เรื่องนี้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้มีการศึกษาหลายแห่งที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่นอนร่วมกับผู้ใหญ่ จะมีโอกาสตื่นกลางดึกมากกว่าเด็กที่ปล่อยให้นอนตามลำพังคนเดียวถึง 2-3 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กมีปัญหาการนอนตั้งแต่ขวบปีแรก แม้แก้ไขตามคำแนะนำแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากปัญหาเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปเมื่อเด็กโตขึ้น
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์