Job & Healthy & Poem & Share Clip > Healthy Tips

โรคไต ไม่เคยไกลตัว

(1/1)

Nick:

หากวันใด คุณมีอาการปัสสาวะผิดปกติ อย่าได้มองข้ามเรื่องของ "โรคไต" ซึ่งเจ้าโรคที่ว่านี้ หาใช่ว่าจะไกลตัวเรา เพราะบางครั้งการละเลยใส่ใจในสุขภาพหรือมักแฝงมากับโรคยอดฮิตก็ทำให้คุณเป็นโรคไตได้ไม่ยาก

รู้จัก ไต

ไตมี 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลัง ใต้ชายโครง บริเวณบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่วเหลือง ยาวประมาณ 12เซนติเมตร โดยในไตประกอบด้วยหลอดเลือดฝอยมากมาย เรียกว่า หน่วยไต ซึ่งจะลดจำนวนและเสื่อมสภาพลงตามอายุไข

ไตมีหน้าที่ในการ กำจัดของเสีย ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต และสร้างฮอร์โมน

ทั้งนี้ โรคไตจะหมายถึง โรคที่เกิดจากความผิดปกติของพยาธิสภาพของไตในการทำงาน เพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายคนเรา โดยโรคไตมีหลายประเภท ดังนี้

-โรคไตวายฉับพลันจากเหตุต่างๆ

-โรคไตวายเรื้อรังเกิดตามหลังโรคเบาหวาน โรคไตอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์

-โรคไตอักเสบเนโฟรติก

-โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน (โรค เอส.แอล.อี.)

-โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

-โรคถุงน้ำที่ไต

-เป็นมาแต่กำเนิด เช่นมีไตข้างเดียว หรือไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ ซึ่งก็เป็นกรรมพันธุ์ด้วยเช่นกัน

-เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ

-เกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เช่น กรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

-เกิดจากการอุดตัน เช่น จากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต มะเร็งมดลูกไปกดท่อไต

-เนื้องอกของไต

อาการ

ถ้าคุณเริ่มมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ก็ให้คิดไว้นิดๆ ว่านี่คุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับไต เนื่องจากไตและกระเพาะปัสสาวะมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกัน เมื่อไตเกิดผิดปกติจึงส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะผิดปกติไปด้วย อาการผิดปกติของปัสสาวะมีดั้งนี้ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก เจ็บ ต้องออกแรงแบ่ง ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะสะดุดกลางคัน ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะเป็นฟองมาก ปัสสาวะเป็นเลือด

อาการบวม ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากมีอาการบวมตามที่ต่างๆ ของร่างกาย เช่น บวมรอบดวงตาและที่บริเวณใบหน้า บวมที่เท้า หากใช้นิ้วกดไปตรงบริเวณที่บวมแล้วมีรอยบุ๋มลงไปให้สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นโรคไต

อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เอว กระดูกและข้อ โดยจะมีลักษณะการปวดคือ รู้สึกปวดที่บั้นเอวหรือบริเวณชายโครงด้านหลังและมักปวดร้าวไปถึงท้องน้อย ขาอ่อน หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศ

ความดันโลหิตสูง เป็นอาการสำคัญที่บอกให้รู้ว่าคุณมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง ยิ่งผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมานานและไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะที่สมดุล ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าปกติโดยอาจจะเป็นโรคไตเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแดงในไตตีบ

วิธีรักษา

อาจแบ่งได้เป็น 4 วิธีหลักๆ ด้วยกัน คือ

การตรวจค้นหาและการวินิจฉัยโรคไตที่เหมาะสม การตรวจค้นหา หรือวินิจฉัยโรค ที่ถูกต้องได้ในระยะต้นๆ ของโรค ย่อมมีโอกาสได้รับผลการรักษาดีกว่าการเข้าวินิจฉัยล่าช้า

การรักษาที่สาเหตุของโรคไต เช่น การรักษานิ่วไต การหยุดยาซึ่งเป็นพิษต่อไต การควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้ดีอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาที่เหมาะสม กับโรคเนื้อไตอักเสบแต่ละชนิด

การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต แม้แพทย์จะรักษาสาเหตุของโรคไตแล้วแต่ผู้ป่วยจำนวนมากอาจมีการทำงานของไตที่เสื่อมลงกว่าปกติ เพราะเนื้อไตบางส่วนถูกทำลายไปไตส่วนที่ดีซึ่งเหลืออยู่จะต้องทำงานหนักขึ้นทำให้ไตเสื่อมการทำงานมากขึ้นตามระยะเวลาและมักเกิดไตวายในที่สุด ดังนั้นการชะลอการเสื่อมของไต อันได้แก่ การควบคุมอาหารให้เหมาะกับการทำงานของไตที่เหลืออยู่ การใช้ยาเพื่อช่วยปรับสารต่างๆ ที่เป็นพิษต่อไต การควบคุมความดันโลหิตให้ดี

การรักษาทดแทนการทำงานของไต (การล้างไตและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต) เมื่อไตวายมากขึ้นจนเข้าระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการล้างไตหรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info

ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน

ที่มาข้อมูล : www.e-magazine.info

Navigation

[0] Message Index

Go to full version