Author Topic: ความเหมือนที่แตกต่าง แพ้ยา vs ผลข้างเคียงจากยา  (Read 1822 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ลบความสับสนจากการใช้ยารักษาโรค แบบไหนเรียก แพ้ยา แบบไหนแค่ ผลข้างเคียง

โรคบางโรค ป่วยแล้วต้องใช้ยารักษา ซึ่งยาบางชนิดก็ใช่ว่าจะรักษาอาการป่วยให้หายอย่างราบรื่น เนื่องจากอาจก่ออาการไม่พึงประสงค์ และมักทำให้ผู้ป่วยสับสนว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะแพ้ยา หรือเป็นเพียงแค่ผลข้างเคียงกันแน่

เหตุข้างต้น ทางโรงพยาบาลเวชธานี ได้ไขข้อข้องใจไว้ในนิตยสารสุขภาพประจำโรงพยาบาล ว่า เมื่อใดที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยา คนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น หลังกินยาแล้วง่วง ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง หรือมีผื่นขึ้น ก็สรุปแล้วว่า แพ้ยาทั้งสิ้น

ซึ่งในความเป็นจริง อาการข้างต้นเรียกรวมๆ ว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาการหรือผลข้างเคียงจากยา (Side Effect) และการแพ้ยา (Drug allergy)

สำหรับความหมายของ อาการข้างเคียงจากยา คือ ผลที่ไม่ได้จงใจให้เกิดขึ้นจากยา หรือเรียกง่ายๆ ว่า เกิดจากฤทธิ์ของยา เช่น กินยาแก้ปวด Ibuprofen แล้วมีอาการแสบท้อง เนื่องจากยาระคายกระเพาะอาหาร

หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่บางครั้งอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนเกิดอาการข้างเคียง อย่างเช่น ลุกขึ้นแล้วหน้ามืด ใจสั่น อีกทั้งกรณีของยารักษาโรคเบาหวาน หากใช้เกินขนาด หรือผู้ป่วยกินอาหารน้อยลง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ จนใจสั่น เหงื่อออกมาก บางรายถึงขั้นหมดสติ

เหล่านี้ถือว่า เป็นผลข้างเคียงจากยา ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เพียงปรับเปลี่ยนวิธีกินยา และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องห้ามใช้ยาเสมอไป

ส่วนการแพ้ยา คือ ปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป โดยแพทย์หรือเภสัชกรก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใดจะแพ้ยาชนิดไหน เช่น มีผื่นคัน เปลือกตาบวม ริมฝีปากบวม มีแผลบริเวณเยื่ออ่อน ผิวหนังไหม้

ทั้งนี้ หลังพบว่า มีอาการแพ้ยา ควรหยุดยาที่ต้องสงสัยทั้งหมดและพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้ ที่สำคัญ ห้ามใช้ยาที่แพ้ซ้ำอีก เพราะจะแพ้ซ้ำและรุนแรงกว่าเดิม บางครั้งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต และเมื่อรู้ว่าแพ้ยาชนิดใด ควรจดบันทึกและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากยา พบได้ถึงร้อยละ 95 โดยไม่รุนแรงและอัตราการตายน้อย ที่เหลือร้อยละ 5 เป็นการแพ้ยา ซึ่งอาการมักรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

takecareDD@gmail.com

ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)