เลขากสทช.ยันการจัดการประมูล 3G วันที่ 16 ต.ค. นี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกม. โปร่งใส รักษาประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเต็มที่ ด้านทีดีอาร์ไอย้ำเห็นด้วยการประมูล ถึงแม้อาจไม่แข่งขันด้านราคาเต็มที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าภายหลังจากที่มีนักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคมออกมาระบุว่าจะไปยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการประมูล 3G ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.2555 โดยอ้างใน 4 ประเด็นนั้นทางสำนักงาน กสทช.ยืนยันว่าการประมูล 3G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ กระบวนการทุกอย่างได้ทำอย่างถูกต้องแล้วโดยเฉพาะด้านกฏหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกสทช.ในการจัดการประมูล3G จึงไม่มีข้อสงสัยในอำนาจหน้าที่ของกสทช.อีกต่อไป
ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนการจัดการประมูล กสทช.และสำนักงานกสทช. ได้ดำเนินการตามกระบวนการที่กฏหมายกำหนดถูกต้องทุกขั้นตอนอย่างครบถ้วน และหลักเกณฑ์ และวิธีการประมูล มีการกำหนดตามมาตรฐานการให้บริการ ทั้งในเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยี การคุ้มครองประโยชน์ประเทศ และการคุ้มครองประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามที่กฏหมายได้บัญญัติไว้
นอกจากนี้ในส่วนของรายได้อันเกิดจากการประมูล 3G นั้น ทางสำนักงาน กสทช.จะนำเงินดังกล่าวส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายต่อไป
'เรายืนยันว่าการประมูล 3G ในวันที่ 16ต.ค.นี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมั่นใจว่าทุกขั้นตอนทำถูกต้องมาโดยตลอด ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก'
สำหรับขั้นตอนต่อไป คือในวันที่ 9 ต.ค. สำนักงาน กสทช.จะได้นำผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล 3G ตาม IM เสนอบอร์ดกทค.เพื่อให้บอร์ดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลความถี่ 2.1 GHz ในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่าไม่น่าจะมีเหตุผลที่เพียงพอในการฟ้องร้องให้ระงับการประมูล 3G ออกไปอีก เพราะประเด็นต่างๆ ที่มีการหยิบยกขึ้นมาสามารถใช้เครื่องมือในการกำกับดูแลต่างๆ ของ กสทช. ที่มีอยู่ เช่น การกำกับดูแลค่าบริการและการกำหนดมาตรฐานคุณภาพบริการ ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ การชะลอการประมูล 3G ออกไปจะทำให้ประเทศไทยมีบริการ 3G ใช้ล่าช้ากว่าประเทศอื่นต่อไปอีก
'ผมเห็นว่า การประมูลควรจะเดินหน้าต่อไป แต่ผมขอถามว่า กสทช. จะรับผิดชอบอย่างไร หากผลการประมูลออกมาอย่างที่คาด คือทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นหมื่นล้านบาท'
ทั้งนี้เห็นด้วยว่าจริงอยู่ที่การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล 3G ของ กสทช. ครั้งนี้ เป็นการเอื้อให้ผู้ให้บริการทั้ง3ราย สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงื่อนไขของการประมูลแทบจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเลย เหมือนจัดคน 3 คนมาเล่นเก้าอี้ดนตรี 3 ตัว ซึ่งหากผลการประมูลได้ราคาใกล้เคียงกับราคาประมูลตั้งต้น รัฐและประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ก็จะเสียหายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดจากราคาประเมินของกสทช.เอง
ส่วนประชาชนในฐานะผู้บริโภคนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากราคาค่าประมูลอยู่แล้ว เพราะค่าประมูลเป็นส่วนที่ไปหักมาจากกำไรของผู้ประกอบการต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่นความถี่ไปฟรี ก็ยังจะคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในอัตราที่ทำกำไรสูงสุดนั่นเอง
'วิธีเดียวที่จะทำให้การประมูลได้ราคาสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็คือ กสทช. ต้องไปอ้อนวอนขอร้องผู้เข้าประมูลให้ประมูลสูงขึ้นบ้าง เพื่อไม่ให้ผลการประมูลออกมาน่าเกลียด จนประจานตัวเองมากเกินไป'
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องแปลกมากที่ผู้ประกอบการต่างพูดว่าพร้อมจะจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่สูงกว่า ที่กสทช. กำหนด เช่น มีรายหนึ่งบอกว่าพร้อมจะจ่าย 1.5 - 2.0 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช. กลับไม่ต้องการให้มีการแข่งขันในการประมูล ดูเหมือนจงใจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ
***3G กสท-ทรู ยังไม่จบ นายฐากร กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 850 MHz ภายใต้เทคโนโลยี HSPA ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขซึ่งจริงๆแล้วจะครบกำหนดในวันที่ 5 ต.ค.2555 ที่ผ่านมา แต่กสทได้ส่งหนังสือมายังสำนักงานกสทช.เพื่อขอขยายเวลาในการดำเนินการแก้ไขอีก 30 วัน (5พ.ย.55)
โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับคู่สัญญา คือ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) โดยได้ส่งหนังสือแจ้งให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาที่ได้ข้อยุติร่วมกันแล้วในประเด็นการดำเนินการติดตั้งระบบควบคุม และบริหารจัดการเครื่องอุปกรณ์ Network Operation Center (NOC) ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ กสท เพื่อให้กสท สามารถเข้าถึง และควบคุมได้ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดการใช้งานต่างๆได้ เป็นต้น โดยสำนักงานกสทช.จะนำหนังสือของกสท ในการขอขยายเวลาดังกล่าวไปเสนอต่อบอร์ด กทค.พิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ในวันที่ 9 ต.ค.นี้เช่นกัน
นอกจากนี้หลังจากได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. นำรถตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับร้องจากประชาชนเกี่ยวกับคุณภาพบริการ ซึ่งผลการตรวจสอบตามเส้นทางไปกลับ สำนักงาน กสทช. ขึ้นทางด่วนไปสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างเวลา 09.40 - 11.00 น. และ 13.00 - 16.00 น. ปรากฏว่า การโทร.บนโครงข่าย 2G ทั้งหมด 75 ครั้ง ปรากฏว่า เอไอเอส และดีแทค ไม่มีสายหลุด ส่วนทรูมูฟ สายหลุด 3 ครั้ง ขณะที่ความแรงของสัญญาณ เอไอเอส 96.4% ดีแทค 99.48% และทรูมูฟ 99.84%
ขณะเดียวกันการโทร.บนโครงข่าย 3G เอไอเอสโทร.ออก 65 ครั้ง สายหลุด 2 ครั้ง ความแรงสัญญาณ 95.91% ดีแทคโทร.ออกจำนวน 67 ครั้ง สายหลุด 13 ครั้ง ความแรงสัญญาณ 96.05% ทรูมูฟโทร.จำนวน 66 ครั้ง สายหลุด 3 ครั้ง ความแรงสัญญาณ 99.96% ทีโอที โทร.ออก 76 ครั้ง สายหลุด 6 ครั้ง ความแรงสัญญาณ 82.57% ทั้งนี้ผลการทดสอบเมื่อเทียบกับมาตรฐานกลางของ กสทช. ถือว่าทั้งหมดผ่านเกณฑ์ แต่ทางสำนักงานกสทช.จะทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบคุณภาพให้ทุกค่ายนำไปปรับปรุง เนื่องจากยังพบว่ามีปัญหาคุณภาพบริการอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความแรงของสัญญาณมากแต่ยังมีสายหลุดมากเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าคุณภาพของสัญญาณมีปัญหาอยู่บ้าง
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th