เมก วิตแมน (Meg Whitman) ซีอีโอเอชพี เอชพี (Hewlett-Packard) ประเมินตัวเองกำไรลดลงต่อเนื่องยกเว้นธุรกิจซอฟต์แวร์ คาดดำดิ่งก้นเหวช่วงปีหน้า 2013 ก่อนจะฟื้นตัวได้ภายในปี 2014 ด้านนักลงทุนหวั่นใจทำมูลค่าหุ้นดิ่งสุดในรอบ 9 ปี เนื่องจากคาดหวังจะเห็นความคืบหน้าจากแผนฟื้นฟูบริษัทได้เร็วกว่านี้ โดยเฉพาะการปรับจุดยืนความเป็นบริษัทจำหน่ายฮาร์ดแวร์มาเป็นผู้ให้บริการระบบงานองค์กรเหมือนที่ไอบีเอ็มและเดลล์ทำได้มาก่อนหน้านี้ ภาวะหุ้นตกสุดขีดของเอชพีนั้นเกิดขึ้นหลังจากเมก วิตแมน (Meg Whitman) ซีอีโอเอชพี แสดงความเห็นต่อนักลงทุนในงานประชุมนักวิเคราะห์และผู้ถือหุ้น ว่าผลประกอบการของบริษัทในปีการเงิน 2013 อาจจะลดลงต่อเนื่อง โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นเพราะการเปลี่ยนตัวผู้บริหารเอชพีบ่อยครั้งเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อความต่อเนื่องในการกำหนดนโยบายของบริษัท โดยทั้งหมดนี้เชื่อว่าเอชพีจะสามารถฟื้นฟูกิจการได้ภายในปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่การลงทุนในด้านต่างๆ ของเอชพีเริ่มออกผล
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กลับมองว่าปัญหาสำคัญของเอชพีคือการขาดความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เนื่องจากภาวะขาลงของตลาดพีซีที่เกิดขึ้นพร้อมกับการรัดเข็มขัดการลงทุนด้านไอทีของบริษัททั่วโลก ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างภายในของเอชพี และการปลดพนักงานหลายพันคนล้วนทำให้นักลงทุนหวั่นใจในอนาคตของเอชพี
ทั้งหมดนี้ ชอว์ วู (Shaw Wu) นักวิเคราะห์จากบริษัท Sterne Agee วิจารณ์ว่า การประกาศของซีอีโอเอชพีนั้นสร้างความประหลาดใจให้นักวิเคราะห์ เนื่องจากเอชพีไม่มีการประกาศกลยุทธ์ใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อกลยุทธ์ปัจจุบันไม่ได้ถูกแก้ไข ทำให้วิกฤตความไม่มั่นใจในเอชพีไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
เอชพีนั้นมีดีกรีเป็นบริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ (คำนวณจากยอดขายรวม) ภาวะหุ้นเอชพีตกต่ำจึงเป็นปรากฏการณ์ที่อุตสาหกรรมไอทีโลกให้ความสนใจ โดยทันทีที่ซีอีโอเอชพีออกแถลงการณ์ประเมินทิศทางบริษัทในทางที่ไม่ดีนัก มูลค่าหุ้นเอชพีจึงตกต่ำรวดเดียว 13% ซึ่งเป็นภาวะหุ้นตกที่เกิดขึ้นในวันเดียวครั้งใหญ่ในรอบหลายปี
ความไม่เชื่อมั่นในเอชพีนั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบริการงานไอทีสำหรับองค์กรธุรกิจหรือ enterprise services ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในแผนฟื้นฟูบริษัทที่ซีอีโอวิตแมนยึดเป็นแผนที่ชีวิตเอชพี โดยแม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่มีแรงพอที่จะดึงผลประกอบการโดยรวมของเอชพีให้ลืมตาอ้าปากได้ โดยซีอีโอวิตแมนยอมรับว่ารายได้จากธุรกิจบริการงานไอทีจะลดลงราว 11-13% ในปีการเงิน 2013 และจะสามารถกลับมาทำกำไรอีกด้วยสัดส่วนมาร์จิ้นราว 0-3% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังด้อยกว่าไอบีเอ็มซึ่งมีแนวโน้มทำกำไรทั้งปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากยักษ์ใหญ่สีฟ้าสามารถจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับรายได้ที่ทรงตัวในภาวะเศรษฐกิจเป็นพิษ
ซีอีโอวิตแมนขึ้นนั่งตำแหน่งซีอีโอเอชพีคนที่ 3 ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากซีอีโอคนเก่า Leo Apotheker ต้องลาตำแหน่งไปด้วยข้อหาพัวพันคดีล่วงละเมิดทางเพศซึ่งสามารถยอมความและสู้คดีจนเป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา โดยผลงานที่ผ่านมาของวิตแมนมีทั้งการปลดพนักงาน การลดต้นทุน และการขยายการลงทุนระยะยาวที่ต้องใช้เวลากว่าจะคืนทุน ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอเอชพีเชื่อว่าแม้บริษัทจะฟื้นตัวได้ในปี 2014 แต่กว่าเอชพีจะเริ่มมีสภาพธุรกิจเติบโตได้ตามมาตรฐานอัตราการเติบโตของภาคธุรกิจในสหรัฐอเมริกาได้อาจต้องใช้เวลาอีก 4 ปี (ราวปี 2016) โดยในปีหน้า (2013) เอชพีจะมีรายได้ราว 3.40-3.60 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น ผลจากค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรทำให้ตัวเลขคาดการณ์ของเอชพีน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์จากนักลงทุนที่เชื่อว่าเอชพีจะทำได้ 4.18 เหรียญสหรัฐ
ซีอีโอเอชพียังระบุว่า บริษัทจะฟื้นฟูธุรกิจเครื่องพิมพ์ด้วยการลดจำนวนรุ่นสินค้าลง 30% ภายในปี 2014 เพื่อให้บริษัทสามารถเทความสนใจไปที่การจำหน่ายเครื่องเฉพาะรุ่น และสามารถลดต้นทุนในการพัฒนาได้ เช่นเดียวกับธุรกิจพีซีที่จะลดจำนวนรุ่นสินค้าลงเช่นกัน โดยจะลดลงราว 25% ภายในปี 2014
สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อองค์กร เอชพีระบุว่าจะให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ออราเคิลและไอบีเอ็มเน้นต่อสู้กันในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการประมวลผลทางไกล เบื้องต้นเอชพีคาดว่าธุรกิจบริการคลาวด์คอมพิวติ้งจะเติบโตถึง 39% ในปีนี้
Company Related Link :
HP
ที่มา: manager.co.th