ยักษ์ใหญ่บริษัทไอทีแดนอาทิตย์อุทัยทั้งฟูจิตสึ (Fujitsu) เอ็นอีซี (NEC) และเอ็นทีทีโดโคโม (NTT Docomo) ประกาศร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟน หวังลดการพึ่งพาชิปจากต่างชาติ นักวิเคราะห์เชื่อความเคลื่อนไหวนี้ต้องการต่อสู่กับยักษ์ใหญ่อเมริกันอย่างควอลคอมม์ (Qualcomm) ผู้ผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งรับกำไรมหาศาลจากตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ขยายตัวก้าวกระโดด รายงานระบุว่าโรงงานผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนแดนปลาดิบจะมีชื่อว่าแอคเซสเน็ตเวิร์กเทคโนโลยี (Access Network Technology) โดยฟูจิตสึจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทราว 52.8% ขณะที่เอ็นทีทีโดโคโมและเอ็นอีซีจะถือหุ้นสัดส่วนรองลงมา 19.9% และ 17.8% ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทลูกของฟูจิตสึในนาม ฟูจิตสึเซมิคอนดักเตอร์ (Fujitsu Semiconductor) ที่ถือหุ้นอีก 9.5% เบ็ดเสร็จแล้วฟูจิตสึมีหุ้นรวม 62.3% ในบริษัทนี้
รายงานจากรอยเตอร์สระบุว่า บริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นจะพัฒนาชิปที่สามารถควบคุมการสื่อสารและสัญญาณไร้สายเป็นหลัก แต่จะเอาท์ซอร์สการผลิตให้กับบริษัทรับจ้างผลิตชิปรายอื่นแทน โดยเบื้องต้น แอคเซสเน็ตเวิร์กเทคโนโลยีได้วางเป้าหมายครองส่วนแบ่งตลาดชิปสมาร์ทโฟนทั่วโลกให้ได้ 7% ภายใน 2 ปี หรือปี 2014
ที่สำคัญ บริษัทร่วมทุนนี้จะเน้นพัฒนาชิปที่รองรับเทคโนโลยี 4G หรือ Long-Term Evolution (LTE) ซึ่งเป็นเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงระยะไกลที่จะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคหน้า
การร่วมใจบุกตลาดชิปสมาร์ทโฟนของบริษัทญี่ปุ่นนี้เกิดขึ้นหลังจากดีลระหว่างประเทศกับเกาหลีใต้ล้มอย่างไม่เป็นท่าเมื่อช่วงเม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ทั้งฟูจิตสึ เอ็นทีทีโดโคโม และเอ็นอีซี ร่วมกับพานาโซนิก (Panasonic) เคยประกาศความร่วมมือกับซัมซุง (Samsung) ในการผลิตชิปสำหรับติดตั้งในสมาร์ทโฟนของตัวเองช่วงปี 2011 ที่ผ่านมา แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิกในช่วงเดือนเม.ย.เพราะการเจรจาไม่ลงตัว
ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องการสร้างโรงงานผลิตชิปสมาร์ทโฟนของตัวเอง คือความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา ผลจากตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนทำให้ผู้ผลิตชิปอย่างควอลคอมม์เคยประกาศเตือนเมื่อเดือนเม.ย.ว่า ชิปสมาร์ทโฟนอาจขาดตลาดในช่วง 1-2 ปีนี้
ทั้ง 3 บริษัทแดนปลาดิบจึงร่วมมือกันเพื่อพึ่งพาตัวเอง และต้องการพยายามลดการใช้งานชิปจากต่างชาติในอุปกรณ์พกพาสัญชาติญี่ปุ่น โดยรายงานย้ำว่าเวนเดอร์ผู้ค้าอุปกรณ์จะสามารถควบคุมตลาดได้ดีเมื่อสามารถควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมดได้ จุดนี้คือจุดแข็งที่ทำให้ทั้ง 3 บริษัทมองว่าเป็นความคุ้มค่ากับการทุ่มเงินมูลค่า 1.28 ล้านเหรียญสหรัฐ
การเกิดขึ้นของบริษัทร่วมทุนนี้ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า บริษัทญี่ปุ่นกำลังพยายามต่อสู้กับควอลคอมม์และซัมซุง ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปสำหรับอุปกรณ์พกพารายใหญ่ของตลาด และครองส่วนแบ่งหลักในตลาดสมาร์ทโฟนที่มีการจัดส่งมากกว่า 132.9 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 105.2 ล้านเครื่องในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2011 ตามข้อมูลจากจูปิเตอร์รีเสิร์ช
ในเวลาเดียวกับที่สื่อมวลชนโลกรายงานการร่วมมือกันสร้างโรงงานผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น บริษัทเพื่อนร่วมชาติอย่างชาร์ป (Sharp) นั้นประกาศว่ามีแผนจะเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 5,000 ตำแหน่งทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 10% ของพนักงานรวม เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดหน้าจอแอลซีดีที่มีทิศทางไม่ดีนัก
ที่มา: manager.co.th