เปิดแนวคิดเอ็มดีใหม่สนุก! หวังต่อยอดคอนเทนต์เข้าสู่ตลาดอุปกรณ์พกพา พร้อมเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กลายเป็นบริษัทเชิงรุก แบ่งสัดส่วนงบลงทุนกว่า 50% ในการผลักดันธุรกิจใหม่ มั่นใจสำเร็จภายใน 6 เดือน นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจเนื้อหาและบริการ บริษัท สนุก ออนไลน์ กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เมื่อเฟซบุ๊กเข้ามาในตลาดทำให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และช่วยผลักดันให้ปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และในท้ายที่สุดสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตขึ้นอีก
“สนุกมองว่าคีย์หลักที่ทำให้คนคิดถึงเว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญ เช่น เมื่อคนต้องการค้นหาข้อมูลก็จะเข้าไปค้นหาผ่านกูเกิล ถ้าต้องการแชร์ข้อมูลให้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก และตั้งเป้าว่าเมื่อคนไทยต้องการอ่านเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ก็ให้นึกถึงสนุก”
โดยวางแผนกลยุทธ์หลักไว้เป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนของเนื้อหา แบ่งหลักๆ เป็น 3 แบบ คือ ข่าวบันเทิง เนื้อหาตามประเภทของผู้ใช้ และสุดท้ายคือเนื้อหาที่ผู้ใช้งานสนใจ 2. ส่วนของช่องทางการติดต่อสื่อสาร โดยมองเวลาการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือใช้งานสมาร์ทโฟนในช่วงเช้า พีซีในช่วงกลางวัน และแท็บเล็ตในช่วงก่อนนอน และสุดท้ายคือ 3. การผลักดันธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในตลาด
“ที่ผ่านมาสนุกจะเน้นไปที่คอนเทนต์ ไม่เคยทำอินโนเวชันใหม่ๆ เลย และเชื่อว่าจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบ 74% ในประเทศไทยที่ใช้งานสนุกจะช่วยผลักดันบริการใหม่ๆ จากสนุกได้ และภาพลักษณ์ใหม่ของสนุกจะเน้นไปที่การรุกไปในตลาดมากขึ้น อย่างการสร้างธุรกิจใหม่ที่มองว่าถ้าภายใน 6 เดือนไม่ประสบความสำเร็จ ก็หันไปทำสิ่งใหม่ๆ ดีกว่าซึ่งถ้าล้มเหลวก็ต้องเรียนรู้ว่าเกิดจากอะไร”
นายกฤตธีกล่าวต่อว่า เทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองต่อไปคือพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์พกพาที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้งานสนุกปัจจุบันกว่า 40% ก็มีการใช้งานในรูปแบบดังกล่าวอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ต่อยอดกลยุทธ์ต่อไป
ปัจจุบันสนุกถือเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 ในประเทศไทยด้านข้อมูล มีอัตราการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ (เพจวิว) ที่ 24 ล้านครั้งต่อเดือน ส่วนอัตราการเติบโตของแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเติบโต 272% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันของปีที่ผ่านมา โดยจากฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 25 ล้านคน ข้อมูลจากอเล็กซา และกูเกิลระบุว่า 72-75% คิดเป็น 18-20 ล้านคนเข้าใช้งานสนุก ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานหลักของสนุกอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 25-34 ปี
ขณะที่โครงสร้างรายได้หลักของสนุกมาจากการขายโฆษณา 70-80% ถัดมาเป็นรายได้จากสนุกโมบายล์ และเกม โดยสัดส่วนของงบลงทุนมากกว่า 50% จะถูกใช้ไปในการลงทุนเพื่อผลักดันบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ตลาดรวมของโฆษณาออนไลน์ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าราว 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตในปีนี้ราว 30%
นายทิวา ยอร์ค กรรมการผู้จัดการ สนุก อีคอมเมิร์ซ กล่าวเสริมว่า สนุกยังมีมุมมองในการลงทุน ถ้ามีบริษัทไหนที่น่าสนใจลงทุนสนุกก็พร้อมที่จะเข้าไปซื้อกิจการ เพียงแต่ยังต้องเปรียบเทียบว่าการซื้อกับการลงทุนภายในแบบไหนที่ให้ผลประโยชน์มากกว่ากัน และถ้าการเข้าซื้อกิจการช่วยต่อยอดให้เติบโตได้อย่างคุ้มค่าก็พร้อมที่จะทุ่มเงิน
Company Related Link :
Sanook
ที่มา: manager.co.th