Author Topic: โอลิมปัสโชว์ต้นแบบ “แว่นอัจฉริยะ”  (Read 905 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


     หลังจากกูเกิลเปิดตัว “Project Glass” แว่นอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสมือนจริงเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ายักษ์ใหญ่โลกเทคโนโลยีหลายค่ายจะขานรับว่ากำลังง่วนกับการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะหรือระบบประมวลผลที่สามารถสวมใส่ได้ (wearable computing) อยู่เช่นกัน ล่าสุดโอลิมปัส (Olympus) เปิดตัวต้นแบบแว่นตานามว่า “MEG 4.0” ซึ่งการันตีว่าชาวไอทีจะสามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน
       
       แว่นตาไฮเทคของโอลิมปัสนี้มีชื่อว่า MEG4.0 ถูกนิยามว่าเป็นต้นแบบจอภาพขนาดจิ๋วพิเศษที่สามารถสวมใส่ได้ หรือ ultra-compact wearable display prototype การเปิดตัวครั้งนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของโอลิมปัส หลังจากสำนักข่าว Engadget เคยรายงานในปี 2005 ว่าโอลิมปัสเป็นบริษัทล่าสุดที่ลงทุนพัฒนาสินค้าประเภทหน้าจอสวมใส่ได้
       
       ต้นแบบแว่นตาอัจฉริยะของโอลิมปัสสามารถแสดงภาพความละเอียด QVGA ขนาด 320x240 พิกเซล ตัวแว่นสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาทั้งแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือได้ผ่านระบบไร้สาย Bluetooth ระบบแสดงผลสามารถโชว์ภาพโปร่งใสเพื่อให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นโลกภายนอกได้ขณะที่ยังสวมใส่อยู่
       
       โอลิมปัสยืนยันว่าภาพจากแว่นตาอัจฉริยะนี้จะมีความสว่างสดใสชัดเจน และใช้พลังงานน้อย ที่สำคัญคือสามารถให้ภาพคมชัดเมื่อใช้งานนอกอาคาร ทั้งหมดนี้ตัวแว่นมีน้ำหนักเพียง 30 กรัมเท่านั้น
       
       ข้อมูลระบุว่า ต้นแบบแว่นสามารถฉายภาพในโหมด projection mode ต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง ขณะที่การใช้งานระบบเสมือน หรือ visual fun จะทำงานได้ 8 ชั่วโมง
       
       อีกจุดที่น่าสนใจคือ ตัวแว่นจะฝังระบบเซ็นเซอร์ accelerometer เพื่อให้ระบบรู้องศาการเอียงศีรษะเมื่อสวมใส่ จุดนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมหรือใช้งานแอปพลิเคชันตามการเคลื่อนไหวได้
       
       ข้อแตกต่างสำคัญของ MEG4.0 เมื่อเทียบกับ Project Glass ของกูเกิล คือแว่นตาของโอลิมปัสนั้นไม่มีกล้องดิจิตอลอยู่ภายใน ซึ่งอาจทำให้จุดยืนสินค้าแว่นของโอลิมปัสต่างจากแว่นของกูเกิล โดยแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยคุณสมบัติที่แน่ชัด แต่กูเกิลระบุว่าตัวแว่นจะมาพร้อมกล้องดิจิตอล, หน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง, หน่วยความจำที่เหมาะสม และมี touch pad หรือพื้นที่สำหรับให้ผู้ใช้แตะนิ้วเพื่อควบคุมการทำงานเครื่อง ที่สำคัญ Project Glass ยังจะมีไมโครโฟน, ลำโพง, รองรับคลื่นความถี่หลากหลาย, ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์หลายตัวเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว และมีระบบเข็มทิศ
       
       สรุปคือ กูเกิลวาง Project Glass ในฐานะแว่นตาอัจฉริยะที่เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องจิ๋วซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูล, อ่านข้อความ text ในอุปกรณ์พกพา, ชมวิดีโอออนไลน์, โพสต์ภาพและวิดีโอเข้าสู่เครือข่ายสังคม และทำงานอีกหลายอย่างโดยผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาแตะหน้าจอ หรือล้วงหยิบอุปกรณ์ของตัวเองจากในกระเป๋า โดยล่าสุดกูเกิลประกาศให้นักพัฒนาผู้ร่วมงานประชุมนักพัฒนาประจำปี Google I/O (จัดขึ้นเมื่อปลายเดือน มิ.ย.) สามารถจ่ายเงินจองแว่น 1,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 46,500 บาทเพื่อรับแว่นในปี 2013
       
       แม้จะยังไม่ได้จัดส่งในวันนี้ แต่การเปิดให้สั่งจองแว่น Project Glass ครั้งนี้ทำให้ถูกมองว่าเป็นพัฒนาการสำคัญที่แสดงว่าแว่นอัจฉริยะนี้กำลังจะพร้อมออกสู่ตลาดแมสในเร็ววัน โดยจุดประสงค์ของการเปิดขายต้นแบบแว่นอัจฉริยะของกูเกิลนี้คือการเปิดกว้างให้นักพัฒนาช่วยกันเสนอข้อควรปรับปรุงแว่นตาพันธุ์ใหม่ ขณะเดียวกันก็ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้แว่นตานี้สามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้น
       
       ทั้งหมดนี้ เซอร์เกย์บริน (Sergey Brin) ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลระบุว่าแว่นตานี้คือเทคโนโลยีใหม่ที่กูเกิลต้องการให้นักพัฒนาทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเพื่อให้แว่นตานี้สามารถเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจะได้ใช้งานโดยเร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าหากโครงการนี้สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่อง แว่นอัจฉริยะรุ่นราคาไม่แพงจากกูเกิลจะสามารถเริ่มทำตลาดได้ในปี 2014
       
       กูเกิลเชื่อมั่นว่าแว่นตานี้จะทำให้วิถีการใช้งานเทคโนโลยีของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะวิถีการแบ่งปันหรือการแชร์ภาพและวิดีโอของผู้ที่มีกิจกรรมแหวกแนว จากการสาธิต ผู้สวมแว่นของกูเกิลจะสามารถเห็นแผนที่หรือข้อความจากเพื่อนจากแว่นตา หากต้องการแชตกับเพื่อนก็สามารถทำได้จากแว่นตานี้โดยไม่ต้องถือจับอุปกรณ์พกพา เช่นเดียวกับการถ่ายภาพ ผู้ใช้จะไม่ต้องหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเล็งอีกต่อไป รวมถึงการซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ที่จะไม่ต้องมีการแตะหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต
       
       นอกจากกูเกิล แอปเปิล (Apple) ก็มีท่าทีกำลังพัฒนาแว่นตาคอมพิวเตอร์เช่นกัน โดยบริษัทได้ยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีหน้าจอระบบฝังตัวในแว่นตา และล่าสุดแอปเปิลเพิ่งได้รับสิทธิบัตรอุปกรณ์เสริมในรูปหน้าจอสวมศีรษะที่สามารถฉายภาพโดยตรงสู่ดวงตาผู้ใช้ได้เช่นกัน
       
       ไม่เพียงแว่นตา บริษัทไอทียังมองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาคอนแทกต์เลนส์จิ๋วที่เป็นคอมพิวเตอร์ในตัวได้ จุดนี้มีรายงานว่า บาบัก พาร์วิซ (Babak Parviz) หนึ่งในทีมพัฒนาแว่นตาของกูเกิลซึ่งมีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีชีวภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคอนเทกต์เลนส์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมในขณะนี้
       
       ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของบริษัทฟอร์เรสเตอร์รีเสิร์ช (Forrester Research) ซึ่งวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์ประมวลผลที่สามารถสวมใส่ได้จะนำไปสู่ “สงครามแพลตฟอร์มใหม่” ในอนาคต ซึ่งจะยกระดับจากศึกชิงแชมป์แอปพลิเคชันพกพาในปัจจุบันที่มีผู้เล่นหลักเพียงแอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ อเมซอน และเฟซบุ๊ก
       
       Company Relate Link :
       Olympus


ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)