Author Topic: “โอลิมปิก” ส่อแวว “จอดำ”  (Read 1184 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      ผู้บริหารฟรีทีวี ชี้ “โอลิมปิก” ส่อจอดำอีกรอบ เหตุลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุม ด้าน กสทช. “สุภิญญา” เนื้อเต้นเตรียมเข้าพบรัฐบาลขอความช่วยเหลือ พร้อมนำเสนอบอร์ด กสท. 9 ก.ค.นี้ หวังหาแนวทางป้องกันก่อนจอดำ ในวงเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง โอลิมปิกและบอลโลก : ทางออกเพื่อผู้บริโภคไม่ต้องชมจอดำ
       
       น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังงานเสวนาโต๊ะกลม เรื่องโอลิมปิกและบอลโลก : ทางออกเพื่อผู้บริโภคไม่ต้องชมจอดำ ที่ กสทช.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. โดยยอมรับว่าผู้บริโภคกำลังลำบากหากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังเป็นเช่นนี้ เนื่องจากในงานเสวนาดังกล่าวผู้บริหารฟรีทีวีต่างยืนยันว่ามีแนวโน้มจะเกิดปัญหาจอดำอีกครั้งในช่องฟรีทีวีบนจานดาวเทียมในการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ เนื่องจากลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุม ซึ่งมีสาเหตุเดียวกับที่เพิ่งเกิดขึ้นกับการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012
       
       ทั้งนี้ เบื้องต้น กสทช.ได้ขอให้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทรท. ผู้ประกอบการฟรีทีวี และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางที่จะทำให้ผู้ชมได้ชมการแข่งขันโอลิมปิกในทุกช่องทาง โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีให้ส่งผังรายการมาให้ กสทช.พิจารณาก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 15 วันในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และเป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
       
       นอกจากนี้จะไปหารือกับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. รวมทั้งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง ทั้งการออกอากาศการแข่งขันกีฬาและลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการโทรทัศน์ เพราะแม้ว่าการแข่งขันกีฬาไม่ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ แต่เมื่อดำเนินการถ่ายทอดถือว่าเป็นงานด้านลิขสิทธิ์ จึงต้องสร้างความชัดเจน
       
       “เราต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยด้วย เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยเดิมอย่างฟุตบอลยูโร 2012 ที่ผ่านมาอีก แต่ก็มั่นใจว่าเป็นคนละกรณีกันเนื่องจากครั้งนี้เป็นหน่วยงานรัฐที่ได้ลิขสิทธิ์ ต่างจากครั้งที่แล้วที่เป็นเอกชนจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากเพราะยังไม่มีตัวบทกฎหมายเฉพาะออกมา”
       
       ดังนั้นหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังคงใช้ช่องว่างของกฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจเช่นนี้ กสทช.จำเป็นที่จะต้องออกกฎระเบียบที่มากขึ้นและรัดกุมมากกว่าเดิม
       
       อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 9 ก.ค.นี้จะนำเอาประเด็นจอดำโอลิมปิกดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อไปเพื่อหาแนวทางป้องกัน รวมถึงการออกร่างประกาศกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม กิจการเคเบิลทีวี รวมทั้งการควบคุมการออกอากาศของช่องรายการต่างๆ รวมถึงการให้บริษัทอาร์เอส ที่ได้รับลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ค.ศ. 2014 จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ได้รับสิทธิ์ แต่ต้องนำประเด็นเกี่ยวกับยูฟ่าในการแข่งขันฟุตบอลยูโรมาเป็นพื้นฐานไม่ให้เกิดปัญหาจอดำขึ้นมาอีก
       
       ขณะเดียวกัน นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และตัวแทนสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) กล่าวว่า การเจรจาการถ่ายทอดสดการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งดำเนินการโดย ทรท.และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกนั้นอาจเกิดปัญหาจอดำอีกครั้ง เพราะทรท.ได้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดมาแบบฟรีทีวีออนแอร์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงทีวีดาวเทียม โทรทัศน์ที่ดูผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยบอกรับสมาชิก หรือไอพีทีวี และช่องทางแพลตฟอร์มอื่น ซึ่ง ทรท.จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันครั้งนี้
       
       ด้านตัวแทนไอพีทีวีกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ หากสามารถเข้ารหัสกล่องรับสัญญาณได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ประมาณ 9 ล้านกล่อง จากจำนวนที่มีประมาณ 10.5 ล้านกล่อง แต่จะส่งผลกระทบโดยตรงในเรื่องการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์แน่นอน จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำแบบนี้
       
       ส่วนนางนุสรา กาญจนกุล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สั่งการให้ฝ่ายนิติกรที่ดูแลด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ไปศึกษา หลังจากที่เกิดปัญหากรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ที่ผ่านมา โดยปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นทำให้เป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค และมีการร้องเรียนมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเกรงว่ากีฬาโอลิมปิก และฟุตบอลโลก ผู้บริโภคจะไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้ ถึงแม้เงื่อนไขกฎหมายเปิดช่องให้กระทรวงพาณิชย์ทำได้ ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม แต่ต้องตระหนักว่าไทยไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในการออกประกาศฉบับใด ฉบับหนึ่งออกมา
       
       ขณะที่ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาการค้า ลิขสิทธิ์รายการ กล่าวว่า สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยให้ รมว.พาณิชย์ออกประกาศเพื่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกจอดำอีก ซึ่งหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความร่วมมือก็สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจของเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากการเก็บค่ากล่องรับสัญญาณ
       
       “เรามองว่าปัญหาในครั้งนี้ฟรีทีวีไม่จำเป็นต้องขออนุญาตต่อยูฟ่าเพราะเป็นเรื่องที่เจ้าของลิขสิทธิ์ คือฟรีทีวี สามารถตกลงกันเองได้”
       
       นายนิมิตร เทียนอุดม ตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า การประกอบการของเอกชนนั้นไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน เป็นการกระทำที่ไม่มีคุณธรรม โดยเน้นหวังผลประโยชน์แต่รายได้ของบริษัทตนเองทั้งๆ ที่ประกอบกิจการโดยการใช้คลื่นซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการมีคุณธรรม และจริยธรรมในการทำธุรกิจบ้าง ไม่ใช่นึกถึงแต่ประโยชน์ของบริษัทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
       
       Company Relate Link :
       กสทช.

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)