เดลต้ารับภาคส่งออกอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์สาหัส เผยบริษัทลดกำลังการผลิตลง เน้นส่งออกเป็นชิ้นส่วน ไปประกอบเป็นโปรดักท์สมบูรณ์ที่ต่างประเทศแทน
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกปีนี้มีทิศทางลดลงตามสภาพเศรษฐกิจโลก หากอัตราลดลงตามกระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมา 40.7% ถือว่าได้รับผลกระทบหนักมากทั้งอุตสาหกรรม และต้องเร่งหามาตรการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายกันอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ เขาประเมินว่า น่าจะลดลงราว 20% ส่วนของเดลต้าที่ผ่านมาได้ปรับลดการผลิตในประเทศมาก่อนแล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย
"ถ้าลดระดับ 40.7% ภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าหนักมาก และอาจเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยเฉพาะบริษัทส่งออกที่ยังไม่ได้มีมาตรการรองรับภาวะเช่นนี้ ต้องหันกลับมาระมัดระวังค่าใช้จ่าย การลงทุนต่างๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน ต้องเน้นหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ส่วนเดลต้ายอดส่งออกลดลงตั้งแต่ช่วง ธ.ค.-ม.ค.ที่ผ่านมาเพราะมีวันหยุดยาว ประกอบกับบริษัทเน้นส่งออกชิ้นส่วน และไปผลิตสำเร็จในยุโรปเป็นหลัก จึงมีผลทำให้ยอดส่งออกมีมูลค่าน้อยลง"
เขามองว่า ยังมีตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่ท้าทายผู้ประกอบการไทย เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย ยุโรปซึ่งมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี แถบแอฟริกา รวมถึงประเทศอเมริกาใต้อย่างบราซิล เป็นต้น
“ตอนแรกบริษัทคาดว่าตัวเลขยอดขายปีนี้น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 20% แต่จากการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจในและนอกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ยากที่ยอดขายจะเติบโตได้ระดับดังกล่าว แต่เชื่อมั่นว่ายอดขายปีนี้จะไม่แย่ไปกว่าปีที่ผ่านมา คือจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน”
เขาคาดว่า ตัวเลขยอดขายอาจเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาระดับ 1.1 พันล้านดอลลาร์ แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่งออกช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
ส่วนภาพรวมของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปี 2552 มองว่า ยังอยู่ในช่วงที่ได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูงน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคยังมี น่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
แต่กลุ่มสินค้าระดับโลว์เอนด์อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีฐานการผลิตค่อนข้างมาก สวนทางความต้องการใช้ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์