ศาลสหรัฐฯตัดสินแอปเปิล (Apple) เข้าข่ายผิดกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภครัฐแคลิฟอร์เนียฐานเปิดทางให้นักการตลาดติดตามกิจกรรมประจำวันของผู้ใช้ไอโฟน ไอแพด และไอพ็อดหลายล้านคน ขณะที่กูเกิล (Google) และอีกหลายบริษัทพ้นข้อกล่าวหา ถือเป็นความพ่ายแพ้ซ้ำ 2 หลังจากศาลตัดสินยกฟ้อง เมินคำขอแอปเปิลที่ต้องการให้ศาลออกคำสั่งห้ามคู่แข่งอย่างซัมซุง วางจำหน่ายสินค้ารุ่นล่าสุดอย่าง Galaxy S III Lucy Koh ผู้พิพากษาศาลแคลิฟอร์เนียออกแถลงการณ์ว่าเจ้าของไอโฟน (iPhones), ไอแพด (iPad) และไอพ็อดทัช (iPod Touch) สามารถฟ้องร้องแอปเปิลได้ภายใต้ 2 กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคในแคลิฟอร์เนีย โดยระบุว่าได้อ่านคำร้องเรียนที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯถึง 19 คดีในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ตัดสินให้แอปเปิลไม่มีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค และยังยกฟ้องความผิดฐานจงใจล่อลวงทางคอมพิวเตอร์ สอดแนมดักฟัง และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทั้งหมด ยังไม่มีความเห็นใดๆจากตัวแทนของแอปเปิล
นอกจากกูเกิลที่ถูกพิจารณาให้พ้นจากข้อกล่าวหาทุกกรณี ยังมีบริษัทอย่าง AdMarval Inc, Admob Inc, Flurry Inc และ Medialets Inc. ที่พ้นข้อกล่าวหาเช่นกัน
การตัดสินครั้งนี้เกิดขึ้นจากคดีความที่เริ่มมีการฟ้องร้องในเดือนเมษายน 2011 โดยนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2 รายเปิดเผยว่าผู้ใช้ไอโฟนสามารถถูกสอดแนมได้จากไอโฟนของตัวเอง
โปรแกรมเมอร์ 2 รายนี้เป็นชาวอังกฤษ ระบุว่าสมาร์ทโฟนยอดฮิตของแอปเปิลอย่างไอโฟนนั้นติดตามเก็บข้อมูลว่าเจ้าของเครื่องเดินทางไปที่ไหนบ้าง โดยจะบันทึกข้อมูลลงในเครื่องก่อนจะอัปโหลดอัตโนมัติลงในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้เมื่อโทรศัพท์ถูกเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมไอจูนส์ (iTune) ทั้งข้อมูลพิกัดเส้นรุ้ง-เส้นแวงของตำแหน่งใช้งานเครื่อง รวมถึงวันเวลาโดยประมาณ ทั้งหมดถูกซ่อนไว้ในไฟล์ลับซึ่งยังไม่ได้รับการปกป้องที่รัดกุมพอ
แม้แอปเปิลจะรับผิดชอบด้วยการออก iOS 4.3.3 เพื่อแก้ไขปัญหาการติดตามข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้ พร้อมยืนยันว่าการเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความตั้งใจเพื่อเก็บฐานข้อมูลจุดให้บริการ Wi-Fi และข้อมูลของเสาผู้ให้บริการเครือข่ายรอบบริเวณที่ใช้งาน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ แต่เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนทำให้เจ้าของไอโฟนมีโอกาสถูกสอดแนมและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ใช้งานไอโฟนและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคกังวลใจ
ชาวเกาหลีใต้ราว 25,000 คนออกมาร้องเรียนทันทีที่ข่าวนี้ถูกรายงานไป เนื่องจากในทางทฤษฎี ข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นข้อมูลชั้นยอดสำหรับนักโฆษณาที่ต้องการสอดแนมพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำเสนอโฆษณาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายให้ตรงเป้าที่สุด
อย่างไรก็ตาม รายงานของ 2 โปรแกรมเมอร์นี้ระบุว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งไปที่แอปเปิลหรือบริษัทรายอื่น (third party) แต่จะถูกเก็บไว้บนอุปกรณ์ส่วนตัวของเจ้าของไอโฟนเท่านั้น แสดงถึงความไม่ตั้งใจของแอปเปิล ซึ่งทุกชาติที่เคยออกมาตรวจสอบ ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ และยอมรับความบริสุทธิของแอปเปิล
ครั้งนั้นไม่เพียงแอปเปิล แต่หน่วยงานสหรัฐฯยังส่งจดหมายเรียกชี้แจงถึงผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือรายอื่นในตลาดอีก 4 ราย ทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) โนเกีย (Nokia) ริม (Research in Motion) และฮิวเล็ตแพคการ์ด (Hewlett-Packard) รวมถึงกูเกิลเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีระบบปฏิบัติการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องใดจะลักลอบตามเก็บข้อมูลพิกัดผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออีก ซึ่งมีเพียงแอปเปิลเท่านั้นที่ถูกรายว่าเข้าข่ายผิดกฏหมายแคลิฟอร์เนียในขณะนี้
นอกจากนี้ ผู้พิพากษา Koh ยังอ่านคำตัดสินกรณีแอปเปิลขอให้ศาลสั่งห้ามซัมซุงจำหน่ายมือถือ Galaxy S III เนื่องจากสินค้าดังกล่าวละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิล โดยปฏิเศษคำร้องดังกล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลว่าหากมีคดีความระหว่างแอปเปิลกับซัมซุงเพิ่มเติม การพิจารณาคดีระหว่างทั้ง 2 บริษัทจะล่าช้าลงไปอีก หลังจากกำหนดการถูกเลื่อนเป็นวันที่ 30 กรกฎาคมแล้วในขณะนี้
Company related Link :
Apple
ที่มา: manager.co.th