หน้าเว็บไซต์บริการวิดีโอแชตล่าสุด "Airtime"
(จากซ้าย) ฌอณ ปาร์เกอร์ (Sean Parker) และชาวน์ แฟนนิง (Shawn Fanning)
รูปแบบวิดีโอแชตบน Airtime (ในภาพ ชายด้านขวาคือซีอีโอเฟซบุ๊ก มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กที่ทดลองใช้บริการ)
http://www.youtube.com/watch?v=mNlKP1hi2xI ชมตัวอย่างการใช้ Airtime เป็นช่องทางร้องเพลงให้เพื่อนฟังได้จากคลิปวิดีโอ
ฌอณ ปาร์เกอร์ (Sean Parker) และชาวน์ แฟนนิง (Shawn Fanning) 2 ผู้ร่วมก่อตั้งบริการแชร์ไฟล์เพลง "แนปสเตอร์ (Napster)" ซึ่งเป็นข่าวดังเมื่อ 10 ปีก่อน ได้ร่วมใจคลอดบริการใหม่อีกครั้งซึ่งเน้นให้บริการเพื่อนมาร่วมทำวิดีโอแบตหรือการสนทนาแบบเห็นหน้าบนเว็บไซต์ หวังแพร่หลายระดับ"โทรศัพท์"บนเครือข่ายสังคมเบอร์ 1 อย่างเฟซบุ๊ก
บริการสนทนาแบบเห็นภาพหรือวิดีโอแชตของ 2 ผู้ก่อตั้งแนปสเตอร์นี้ถูกตั้งชื่อว่าแอร์ไทม์ (Airtime) โดยแม้จะเป็นเว็บไซต์แยกต่างหาก ผู้ที่สามารถใช้แอร์ไทม์ได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกบริการเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กด้วย จุดนี้ถือเป็นโอกาสมากกว่าข้อจำกัดเพราะจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในปัจจุบันนั้นมีมากกว่า 950 ล้านคนแล้ว
ทั้งหมดนี้ ปาร์เกอร์ให้สัมภาษณ์ว่า แอร์ไทม์ไม่ใช่เครือข่ายสังคมรูปแบบใหม่ที่ตั้งใจแข่งขันกับเฟซบุ๊ก (Facebook) บริการเครือข่ายสังคมซึ่งเป็นเจ้าตลาดเครือข่ายสังคมในขณะนี้ จุดยืนที่แอร์ไทม์วางไว้คือการเป็นมากกว่าเครือข่ายสังคมซึ่งคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่แล้วจะสามารถสื่อสารกันได้ โดยหวังให้แอร์ไทม์รับประโยชน์จาก 'network effect' หรือผลข้างเคียงของเครือข่ายสังคมที่จะทำให้ชาวออนไลน์ใช้งานแพร่หลายมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งให้แอร์ไทม์ถูกใช้งานแพร่หลายเหมือนกับ"โทรศัพท์"ที่คนทั่วโลกใช้งาน
แนวคิดนี้ของผู้สร้างแนปสเตอร์นั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะเมื่อคำนึงถึงเครือข่ายที่ครอบคลุมผู้ใช้ในประเทศทั่วโลกอย่างเฟซบุ๊กนั้นถือว่าบริการแอร์ไทม์มีโอกาสเติบโตสูง แถมความสัมพันธ์แน่นเฟ้นระหว่างปาร์เกอร์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเฟซบุ๊กตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ล้วนทำให้แอร์ไทม์ได้รับความสนใจจากวงการไอทีทั่วโลก
ปาร์เกอร์นั้นถูกถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่อง 'The Social Network' ภายใต้การแสดงของนักร้องหนุ่มจัสติน ทิมเบอร์เลค (Justin Timberlake) ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์นี้สะท้อนว่าปาร์เกอร์มีบทบาทสำคัญมากในการก่อร่างเฟซบุ๊กในวันนี้
สำหรับกรณีของแอร์ไทม์ ปาร์เกอร์ให้ความเห็นว่าความตั้งใจของการสร้างบริการนี้คือการทำให้อินเทอร์เน็ตมีความสนุกสนานมากขึ้น พร้อมกับที่ชาวออนไลน์จะสามารถสนทนาผ่านวิดีโอแชตได้ได้แบบเรียลไทม์ และสามารถแชตกับใครก็ได้ที่ไม่รู้จักนอกเครือข่ายสังคมที่ตัวเองมี
อย่างไรก็ตาม ปาร์เกอร์ระบุว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยจะเป็น 1 ในพันธกิจหลักของแอร์ไทม์ ยังไม่ให้รายละเอียดแต่ระบุว่าจะป้องกันไม่ให้มีการใช้วิดีโอแชตในทางที่ผิด
ผู้ต้องการใช้แอร์ไทม์จะต้องมี Web camera ติดตั้งเบราว์เซอร์ Chrome, Firefox 3+, IE 8 ขึ้นไป ตัวเครื่องใช้หน่วยประมวลผลความเร็ว 1.5Ghz หรือเร็วกว่า ต้องมี RAM มากกว่า 512MB และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1.5Mbps ขึ้นไป
แอร์ไทม์นั้นแจ้งเกิดท่ามกลางบริการวิดีโอแชตที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันอย่างสไกป์ (Skype) ซึ่งไมโครซอฟท์ซื้อไป ยังมีบริการแฮงก์เอาท์ (Hangout) ของกูเกิล รวมถึงบริการน้องใหม่อย่างแชตรูเร็ตต์ (Chatroulette) จุดนี้ปาร์เกอร์ระบุว่าแอร์ไทม์นั้นแตกต่างจากบริการเหล่านี้เพราะสามารถทำงานได้ชนิดเรียลไทม์บนอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
หลังจากที่ปาร์เกอร์และแฟนนิงเปิดตัวแนปสเตอร์ตั้งแต่ปี 1999 ทั้งคู่ระบุว่าไม่เคยคิดว่าบริการแชร์ไฟล์เพลงจะได้รับความนิยมสูงเช่นนั้น โดยสาวกแนปสเตอร์หลายล้านคนซึ่งดาวน์โหลดแนปสเตอร์ไว้ในเครื่องพร้อมใจกันแบ่งปันเพลงที่ตัวเองมีให้ชาวออนไลน์รายอื่นฟังอย่างถล่มทลาย ส่งให้แนปสเตอร์ถูกฟ้องร้องโดยค่ายเพลงที่เสียประโยชน์ และต้องปิดตัวลงในที่สุด
Company Related Link :
Airtime
ที่มา: manager.co.th