ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันในนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไปสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอโปร่งแสงซึ่งผู้ใช้สามารถมองทะลุอีกด้านได้ เพราะล่าสุดเอ็นทีทีโดโคโม (NTT Docomo) โอเปอเรเตอร์เบอร์ 1 ของญี่ปุ่นนำต้นแบบสมาร์ทโฟนมองทะลุจอนี้มาแสดงในงานมหกรรมโทรคมนาคมกลางกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมสาธิตการทำงานว่าสามารถใช้งานได้จากทั้งด้านหน้าและหลังแบบไม่มีสะดุด ต้นแบบสมาร์ทโฟนหน้าจอกึ่งโปร่งใสนี้เป็นทัชสกรีนระบบสัมผัส ขนาดหน้าจอ 2.4 นิ้ว ความใสของหน้าจอจะทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นภาพไอคอนบนหน้าจอได้จากทั้งด้านหน้าและหลังของโทรศัพท์ ทำให้การใช้งานโทรศัพท์หน้าจอโปร่งแสงนี้สามารถทำได้จากทั้ง 2 ด้าน และถูกยกให้เป็นมือถือ “see-through” ที่ผู้ใช้สามารถมองทะลุหน้าจอได้อย่างสมบูรณ์
เบื้องต้นหน้าจอมองทะลุยังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้งานกลางแดดจ้า เพราะแสงสะท้อนที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ได้รับความสะดวกจากหน้าจอนี้ จุดนี้ตัวแทนเอ็นทีทีโดโคโมระบุว่าปัญหานี้จะเบาลงเมื่อนำวัตถุสีมืดมาวางไว้หน้า-หลังเครื่อง ซึ่งบริษัทยังอยู่ระหว่างการหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้
แม้ปัญหาใช้งานกลางแจ้งยังไม่ถูกแก้ไข แต่เอ็นทีทีมองว่าหน้าจอนี้จะเปิดมิติใหม่ของประสบการณ์มัลติทัช หรือการสัมผัสหน้าจอหลายจุดพร้อมกันของผู้ใช้ ซึ่งจะนำไปสู่แนวคิดการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ได้ในอนาคต
ตัวอย่างเช่นเกมยอดฮิตอย่างลูกบาศก์รูบิก หรือ Rubik’s Cube ที่สามารถแปลงร่างเป็นเกมได้อย่างเหมาะมากบนหน้าจอโปร่งแสง เพราะผู้ใช้จะสามารถสัมผัสหน้าจอด้านหน้าและหลังได้พร้อมกันเหมือนการเล่นลูกบาศก์จริงแบบไม่ผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับเกมที่ต้องเล่น 2 คน ซึ่งหน้าจอนี้จะทำให้ผู้เล่นรายหนึ่งควบคุมเกมพร้อมกับที่ผู้เล่นอีกรายใช้หน้าจออีกด้านได้อย่างลงตัว
เอ็นทีทีโดโคโมเชื่อว่าผู้ใช้จะสามารถมองหน้าจอนี้ได้สบายตากว่าหน้าจอ LCD ที่ติดไฟแบล็กไลต์อยู่ด้านหลัง แถมยังมีคุณภาพเหนือกว่าหน้าจอโปร่งแสงใดๆ ที่เคยมีการพัฒนามา ทั้งหมดนี้เอ็นทีทียังไม่เปิดเผยกำหนดการวางจำหน่าย ซึ่งเชื่อว่าหน้าจอนี้ยังต้องผ่านกระบวนการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง
นอกจากต้นแบบโทรศัพท์มือถือหน้าจอโปร่งแสงของเอ็นทีที ตลาดโทรคมญี่ปุ่นยังมีสีสันอื่นที่น่าจับตา นั่นคือ ซอฟต์แบงก์ (Softbank) คู่แข่งของเอ็นทีทีโดโคโมที่เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ซึ่งสามารถวัดปริมาณรังสีที่ผู้ใช้กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้นได้ หวังสร้างความมั่นใจให้ประชากรญี่ปุ่นที่หวาดหวั่นกับภัยโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะ ในวิกฤตสึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา
สมาร์ทโฟนตัวแรกของโลกที่สามารถวัดปริมาณรังสีได้มีชื่อรุ่นว่า Pantone 5 107SH เป็นสมาร์ทโฟนในซีรีส์ Pantone ที่สามารถตรวจจับรังสีในช่วง 0.05-9.99 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งจะสามารถเตือนให้ผู้ใช้สามารถหาทางป้องกันอันตรายต่อสุขภาพได้ มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 4.0 หน้าจอแอลซีดีขนาด 3.7 นิ้ว ความละเอียด 854 x 480 พิกเซล กล้องดิจิตอล 4 ล้านพิกเซล ทำงานบนหน่วยประมวล 1.4GHz พร้อมระบบทีวีจูนเนอร์ความเร็วสูง 1seg TV Tuner ตัวเครื่องสามารถกันน้ำและฝุ่นละออง บนความบางเพียง 12 มม. กำหนดการวางจำหน่ายคือเดือนกรกฎาคมนี้
ก่อนหน้านี้ เอ็นทีทีโดโคโมได้เปิดตัว “หน้ากากสมาร์ทโฟน” ที่สามารถวัดระดับปริมาณรังสีได้ แต่ยังไม่มีการประกาศกำหนดการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
Company Related Link :
NTT Docomo
ที่มา: manager.co.th