3 ค่ายมือถือเสนอแก้ไขเรื่องเวลา-ขั้นตอน-จำนวนเลขหมายที่อนุญาตให้มากขึ้น หลัง กสทช.เปิดระดมความเห็นภาคเอกชนต่อหลักเกณฑ์การจัดสรร และบริหารเลขหมาย พร้อมรับข้อเสนอเพื่อไปปรับปรุงประกาศต่อไป
นายสุทธิพล ทวีชัยการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย เปิดเผยภายหลังเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ว่าได้มีตัวแทนผู้ประกอบการ หรือจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย 15 บริษัทที่เข้าร่วมในครั้งนี้ โดยกสทช.มองว่าประกาศฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ซึ่งความเห็นจากผู้ประกอบการณ์พบว่าประกาศฉบับนี้มีปัญหา และอุปสรรคในทางปฏิบัติอยู่หลายประการ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และกำหนดให้ต้องอาศัยความเห็นจากหน่วยงาน และบุคคลภายนอก ทำให้เกิดความล่าช้าและเป็น ภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ยื่นขอรับการจัดสรร
ขั้นตอนต่อไปหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ จะประชุมพิจารณาเพื่อกำหนดหลักการในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ ฉบับนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ จากนั้นก็จะเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และประกาศใช้ต่อไป
ด้าน นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมถึงหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายต่างต้องการให้กสทช.ปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าว ให้สอดคล้องกับการให้บริการ และการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการพิจารณาจัดสรรเลขหมาย การอนุมัติตามจำนวนที่ยื่นขอรับจัดสรรเลขหมาย จากปัจจุบันไม่ได้รับจัดสรรตามที่ยื่นขอ และใช้เวลาในการดำเนินงาน รวมไปถึงขั้นตอน และการยื่นเอกสารยังซับซ้อน และรายละเอียดจำนวนมาก อีกทั้งต้องการขอปรับลดค่าธรรมเนียมด้วย จึงต้องการให้ลดขั้นตอน เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจ
“การรับฟังความเห็นครั้งนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นรับฟังจากฝั่งเอกชนว่าคิดอย่างไรเท่านั้น หลังจากนี้จะนำเสนอที่ประชุมบอร์ดกทค. หลังจากนั้นก็จะดำเนินการร่างประกาศใหม่ แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และประกาศใช้”
ขณะที่ทางฝั่งผู้ประกอบการเอกชนที่ร่วมรับฟังความคิดเห็น โดยทาง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการจัดสรรเลขหมาย เพราะทำให้เกิดความล่าช้า ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เสนอให้ปรับปรุงเงื่อนการนำเลขหมายเก่ากลับมาใช้ใหม่ จากเดิมกำหนดให้ 180 วัน หรือ 6 เดือน เปลี่ยนเป็น 30 วัน หรือ 1 เดือน ด้านบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอแก้ไขกำหนดเงือนไขการใช้เลขหมายถึง 80% จึงมีสิทธิ์ขอเลขหมายเพิ่มเพิ่มเติมได้ เนื่องจากผู้ประกอบการได้วางแผนการดำเนินธุรกิจไว้แล้ว รวมถึงให้ทบทวนการจัดสรรเลขหมายทุก 2-3 ปี จากเดิม 5 ปี เพราะนานเกินไป
นอกจากนี้ยังผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ อาทิ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ,บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัททรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด, บริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด , บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เป็นต้น
อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือ ที่ใช้งานอยู่ในตลาดประมาณ 103 ล้านเลขหมาย และยังเหลืออยู่ที่ยังไม่ได้จัดสรรให้กับผู้ประกอบการรายใดอีก 170 ล้านเลขหมาย อีกทั้งในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องจ่ายอัตราค่าธรรเนียมเลขหมายละ 2 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนให้กับกสทช. โดยต้องชำระค่าเลขหมายทุกเดือน เนื่อจากหากค้างชำระจะไม่ได้รับการจัดสรรเลขหมายใหม่หากมีการขอเลขหมายเพิ่ม
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th