วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 2 รายส่งเรื่องร้องเรียนให้กระทรวงยุติธรรมตีความว่าการที่บริษัทเอ่ยปากขอรหัสผ่านบริการเครือข่ายสังคมจากผู้สมัครงานใหม่นั้นเข้าข่ายการผิดกฏหมายหรือไม่ ถือเป็นการตรวจสอบอย่างจริงจังครั้งแรกหลังจากสื่ออเมริกันตีแผ่ว่าบริษัทและหน่วยงานหลายแห่งในสหรัฐฯเริ่มหันมาตรวจสอบรายละเอียดบนเครือข่ายสังคมในกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อรับคนเข้าทำงานโดยไม่คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว ริชาร์ด บลูเมนทอล (Richard Blumenthal) และชาร์ลส สคูเมอร์ (Charles Schumer) 2 วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตส่งหนังสือเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และคณะกรรมการ Equal Employment Opportunity Commission ซึ่งดูแลความเท่าเทียมของแรงงานสหรัฐฯ ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบแนวโน้มการสัมภาษณ์งานแบบใหม่ ที่ผู้สัมภาษณ์จะเรียกหารหัสผ่านเครือข่ายสังคมชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก เพื่อตรวจสอบประวัติและลักษณะนิสัยของผู้สมัครงานประกอบการสัมภาษณ์
วุฒิสมาชิกทั้ง 2 ระบุว่าตื่นตระหนกเกี่ยวกับการขยายตัวของบริษัทที่เรียกร้องรหัสผ่านบริการเครือข่ายสังคมของผู้สมัครงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยืนยันว่านายจ้างไม่มีสิทธิขอกุญแจบ้านผู้สมัครงาน รวมถึงไม่สามารถขออ่านไดอารี่ส่วนตัวของใคร เท่ากับนายจ้างไม่มีสิทธิในการตรวจว่าผู้สมัครงานส่งข้อความถึงใครหรือเป็นเพื่อนกับใคร
ต้นเหตุของเรื่องนี้คือรายงานข่าวของสื่อมวลชนอเมริกัน ที่ระบุว่าพบพฤติกรรมใหม่ในการสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงานขององค์กรธุรกิจในสหรัฐฯ โดยหลายบริษัทใช้วิธีเอ่ยปากขอชื่อผู้ใช้ (ยูสเซอร์เนม) และรหัสผ่าน (พาสเวิร์ด) ของผู้สมัครงาน เพื่อเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในเครือข่ายสังคมหลายค่ายโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยอ้างว่าต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจรับเข้าทำงาน
รายงานระบุว่า ฝ่ายบุคคลของบริษัทเหล่านี้จะแจ้งกับผู้สมัครงานว่าไม่สามารถเสิร์ชพบหน้าเพจที่ผู้สมัครสร้างไว้ จึงขอให้ผู้สมัครบอกชื่อยูเซอร์เนมและพาสเวิร์ดเพื่อล็อกอิน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้บริษัทสามารถตรวจสอบประวัติพนักงานในจุดที่เก็บเป็นความลับและไม่ตั้งค่าเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ทำให้บริษัทได้เห็นตัวตนของพนักงานมากกว่าการเปิดหน้าเฟซบุ๊กปกติ ทำให้หลายบริษัทและหน่วยงานในสหรัฐฯมีแนวโน้มกำหนดนโยบายสัมภาษณ์งานลักษณะนี้ โดยยืนยันว่าการล็อกอินเฟซบุ๊กจะเกิดขึ้นเฉพาะระหว่างสัมภาษณ์งานเท่านั้น
กรณีที่เกิดขึ้นสร้างเสียงวิจารณ์ในวงกว้างบนโลกออนไลน์ เพราะแม้การกระทำเช่นนี้ไม่เข้าข่ายผิดเนื่องจากผู้ใช้ยินยอมให้รหัสผ่านเอง แต่ผู้สมัครงานใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกในการปฏิเสธ และมีน้อยรายที่กล้าแข็งข้อไม่ยอมให้บริษัทได้เข้าตรวจสอบความลับของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องต่างแสดงความกังวลต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยหลายรัฐกำลังศึกษาเพื่อหาทางร่างกฏหมายปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนอย่างจริงจัง
ล่าสุดเฟซบุ๊กออกมาประกาศเบื้องต้นแล้วว่าไม่เห็นด้วยต่อการขอรหัสผ่านพนักงานของบริษัทองค์กร โดยอีริน อีแกน (Erin Egan) ประธานฝ่ายนโยบายรักษาสิทธิส่วนบุคคลของเฟซบุ๊กระบุว่าการกระทำเช่นนี้ขัดแย้งกับทั้งนโยบายการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวบนเฟซบุ๊ก โดยเตือนว่าบริษัทที่ขอรหัสผ่านจากผู้สมัครงาน อาจจะถูกเฟซบุ๊กฟ้องร้องฐานก่อกวนบริการก็ได้
หากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯและสำนักแรงงานสหรัฐฯตีความกรณีที่เกิดขึ้นว่าเป็นการผิดกฏหมาย วุติสภาสหรัฐฯอาจเข้าสู่กระบวนการร่างเป็นพระราชบัญญัติพิเศษซึ่งจะคุ้มครองประชาชนในกรณีที่นอกเหนือจากกฏหมายรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวดั้งเดิมกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้บริษัทองค์กรไม่สามารถขอรหัสผ่านระหว่างการสัมภาษณ์งานได้อีก
Company Related Link :
Facebook
ที่มา: manager.co.th