เฟซบุ๊ก (Facebook), แอปเปิล (Apple), ทวิตเตอร์ (Twitter), เยลป์ (Yelp) และบริษัทไอทีอเมริกันอีก 14 แห่งถูกกลุ่มบุคคลในสหรัฐฯฟ้องร้องต่อศาลรัฐเท็กซัสข้อหาเผยแพร่แอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่บุกรุกความเป็นส่วนตัว หวังต่อต้านการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวจากรายชื่อผู้ติดต่อในสมุดโทรศัพท์หรือ address book ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนหลายล้านคนทั่วโลกโดยไม่ได้รับอนุญาต สำนักข่าวพีซีเวิลด์ รายงานว่ากลุ่มบุคคล 13 รายยื่นเอกสารต่อศาลสูงรัฐเท็กซัสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาบริษัทไอที 18 แห่งว่ามีพฤติกรรมเก็บรวบรวมข้อมูลจากรายการ address book ของผู้ใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว ซึ่งทั้ง 18 บริษัทที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ประกอบด้วยบริษัทให้บริการเครือข่ายสังคม และบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของเทคโนโลยีไอทีระดับโลก
"บริษัทเหล่านี้ได้สร้าง เผยแพร่ และจำหน่ายโมบายล์ซอฟต์แวร์แอปฯ ที่เมื่อติดตั้งในเครื่องแล้ว ซอฟต์แวร์จะแฝงตัวและอัปโหลดรวมถึงขโมยข้อมูลในรายการ address book ของผู้ใช้อย่างผิดกฏหมาย ซึ่งผู้ใช้ไม่รู้ตัว" ตามเนื้อความในเอกสารร้องเรียน
สิ่งที่กลุ่มบุคคลนี้ต้องการ คือขอให้ศาลออกคำสั่งเพื่อปราบปรามการเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะเดียวกันก็ขอให้บริษัทไอทีเหล่านี้ทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่เคยรวบรวมไปทั้งหมด โดยหวังให้คำสั่งที่เกิดขึ้นมีผลถาวร
กลุ่มบุคคลที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในเมืองออสติน (Austin) โดยระบุว่าการร้องเรียนที่เกิดขึ้นเป็นการทวงสิทธิ์ให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ทั้งที่เป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์
1 ใน 18 บริษัทที่ถูกฟ้องร้องนั้นมีบริการเครือข่ายสังคมน้องใหม่ดาวรุ่งอย่างพาธ (Path) รวมอยู่ด้วย โดยช่วงเดือนก.พ. ที่ผ่านมา พาธถูกกดดันจนต้องออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชน หลังโปรแกรมเมอร์ในสิงคโปร์รายหนึ่งเขียนข้อความอธิบายวิธีการแอบเก็บข้อมูลรายการ address book ของพาธบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งไอโฟนและแอนดรอยด์ทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของพาธโดยไม่รู้ตัว
เพราะ address book นั้นประกอบด้วยข้อมูลเบอร์โทรศัพท์และรายชื่อกลุ่มเพื่อนฝูงของเจ้าของโทรศัพท์มือถือ การดึงข้อมูล address book ทั้งชุดไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของพาธจึงสะท้อนการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารพาธอ้างว่าข้อมูล address book นั้นจะถูกใช้เพื่อการเชื่อมต่อของผู้ใช้เท่านั้น โดยเชื่อว่าการไม่แจ้งต่อผู้ใช้งานก่อนเก็บข้อมูล address book นั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโมบายล์แอปฯ พร้อมกับอ้างว่าแม้แต่แอปเปิลก็ไม่ระบุข้อห้ามใดๆในการใช้ข้อมูลจากรายการ address book
อย่างไรก็ตาม พาธออกแถลงการณ์ขออภัยผู้ใช้อย่างเป็นทางการ โดยดำเนินการแก้ไขพร้อมให้บริการแอปฯเวอร์ชันใหม่ที่จะขออนุญาตผู้ใช้ก่อนที่ระบบจะรวบรวมข้อมูลรายชื่อใน address book ของผู้ใช้ พร้อมระบุว่าได้ลบข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ก่อนหน้านี้แล้วทั้งหมด
ไม่เพียงพาธ แต่ยังมีแอปฯเครือข่ายสังคมทั้งทวิตเตอร์ โฟร์สแควร์ และอื่นๆที่พบปัญหาลักษณะเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายของบริษัทแล้วตั้งแต่มีกระแสต่อต้าน รวมถึงแอปเปิล ผู้กำหนดมาตรฐานแอปฯ ที่เปิดให้ดาวน์โหลดบนไอโฟนซึ่งถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจกับการเก็บข้อมูล address book ก็ได้เริ่มประชุมใหญ่เพื่อหามาตรการสางปมปัญหาที่เกิดขึ้น
แนวโน้มของปัญหานี้คาดว่าจะทำให้เกิดการจัดระเบียบครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมแอปฯ ทั่วโลก เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐฯได้แสดงท่าทีกังวลต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยมีการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงซีอีโอแอปเปิลและกูเกิล เพื่อให้ชี้แจงนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อุปกรณ์ไอโอเอสและแอนดรอยด์ที่ชัดเจนต่อสาธารณชน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดคำชี้แจงใดๆจากทั้ง 2 ค่าย
แน่นอนว่าการฟ้องร้องครั้งนี้คือความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดจากกลุ่มผู้บริโภค ในช่วงเวลาที่ความกังวลต่อประเด็นการบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้นั้นมีแนวโน้มชัดเจนขึ้น โดยทั้ง 18 บริษัทยังไม่มีรายใดออกมาให้ความเห็นต่อการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น มีเพียงทวิตเตอร์ที่ระบุว่าบริษัทมีนโยบายไม่ให้ความเห็นต่อคดีความใดๆ
Company Related Link :
Facebook
Twitter
Apple
Yelp
ที่มา: manager.co.th