ล่าสุด นักวิจัยของ IBM ก็มีอะไรออกมานำเสนอให้เราได้ทึ่งไปกับแนวคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ กันอีกแล้ว กับชิป optical ตัวต้นแบบใหม่ ที่มีความสามารถในการถ่านโอนข้อมูลได้ในระดับ 1 Tbps (1 Terabit) ต่อวินาทีกันเลยทีเดียว โดยได้ออกมาโชว์แนวคิดเทคโนโลยีใหม่ตัวนี้ในงาน Optical Fiber Communication Conference ที่เมืองลอสแองเจิลลีส สหรัฐอเมริกา ชิปตัวนี้เป็นการออกแบบด้วยนวัตกรรมจากการเจาะหลุมลงบนชิป CMOS ปกติทั่วไป เป็นการเข้าไปช่วยการเคลื่อนไหวของแสงให้สะดวกมากขึ้น นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว มันก็ยังประหยัดพลังงานอีกด้วย เทคโนโลยีนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Holey Optochipชิป optical นี้ปกติจะถูกใช้อยู่ในเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นเครื่องประสิทธิภาพสูงขนาดใหญ่มาก ใช้ในการคำนวณงานเฉพาะทาง ตัวอย่างเครื่องที่ใช้ของ IBM ก็จะมีอย่างเช่น Power 775 และ Blue Gene ที่จะถ่ายโอนข้อมูลด้วยแสงแทนอิเล็กตรอน ซึ่งในวงการที่ต้องใช้แบนด์วิธที่ใหญ่ และระยะไกลในการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากมักจะเลือกใช้แสงเป็นตัวกลางถ่ายข้อมูลมากกว่าไฟฟ้า รวมไปถึงโครงข่ายการสื่อสารอย่างโทรศัพท์ด้วย
Holey Optochip ใช้พลังงานเพียงแค่ 4.7 วัตต์เท่านั้น ในการส่งผ่านข้อมุลจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบิตต่อวินาที ซึ่งนั่นเท่ากับไฟล์หนังแบบ HD ถึง 500 เรื่อง ส่วนขนาดสัดส่วนของตัวชิปก็เล็กเพียงแค่ 5.2 x 5.8 มิลลิเมตร เท่านั้น เมื่อเอามาเทียบกับชิป optical แบบเดิมที่มีทั้งหมด 12 channel ที่แต่ละช่องส่งผ่านข้อมูลได้ 10 Gigabit ต่อวินาที Holey Optochip ตัวใหม่นี้จะสามารถส่งได้ทั้งหมด 48 channel และแต่ละช่องก็ยังส่งข้อมูลได้ถึง 20 Gigabit ต่อวินาทีอีกต่างหาก นั่นเท่ากับทั้งหมดรวมเป็น 960 Gigabit น้องกว่า Terabit แค่นิดเดียว แม้ว่า IBM อาจจะไม่ได้ผลิตชิปตัวนี้ด้วยตัวเอง แต่ก็น่าจะมีบริษัทอื่นๆผลิตขึ้นมาจำหน่าย อาจจะภายในปีสองปี ซึ่งราคาก็คาดว่าจะตกต่อตัว 100 – 200 เหรียญ (3,xxx – 6,xxx บาท)
ที่มา NotebookSpec