ตลอดเวลา 150 ปีที่ผ่านมา นักจักษุวิทยาได้ใช้ Snellen chart (แผ่นที่มีตัวอักษรเรียงเป็นแถวๆ แล้วขนาดจะลดหลั่นลงมา) ในการตรวจสายตาของผู้ป่วยซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ทางบริษัท PediaVision ได้ผลิตอุปกรณ์ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า Spot ขึ้นมา เจ้านี่มีข้อดีเหนือกว่าการตรวจสายตาแบบเดิม เพียงแค่ผู้ป่วยนั่งลงหน้ากล้อง ทำการจ้องมองไปที่อุปกรณ์ตัวนี้เหมือนกับการถ่ายรูป มองไปยังที่ด้านหน้าของ Spot พุ่งสายตาไปที่จุดสีแดง, จุดสีอำพัน และจุดสีน้ำเงินที่กะพริบอยู่ นอกจากนี้มันยังสามารถส่งเสียงนกร้องเพื่อดึงความสนใจเด็กเล็กๆ ที่สมาธิไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวได้ด้วย หลังจากนั้นมันก็จะถ่ายภาพดวงตาของผู้ป่วยเป็นชุดๆด้วยแสงอินฟราเรด แล้วประมวลผลจากรูปที่ถ่ายไป ระบุเป็นปัญหาสายตาออกมา ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงหนึ่งวินาทีเท่านั้นในการวิเคราะห์ภาพถ่าย มันสามารถประเมินเป็นสายตาปกติ (in range) หรือสายตาผิดปกติ (out of range) ถ้าเกิดคุณเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มสายตาผิดปกติ หน้าจอของ Spot ก็จะแสดงรายชื่อของปัญหาสายตาที่คุณอาจจะเป็นได้ และแนะนำให้ไปตรวจแบบละเอียดอีกครั้งนึง อาการที่ Spot สามารถระบุได้ก็มีสายตาสั้น สายตายาว, กำลังรวมแสงของสายตาไม่เท่ากัน, ปัญหาด้านโครงสร้างของนัยน์ตา, รูม่านตาเอียง และตาเหล่ ข้อมูลการตรวจทั้งหมดจะถูกเก็บในรูปแบบของไฟล์ pdf ซึ่งสามารถส่งผ่าน Wi-Fi หรือเสียบไปใส่ใน USB flash drive เพื่อนำไปให้นักจักษุวิทยาใช้ประกอบการรักษา ข้อดีของ Spot ที่เหนือกว่า Snellen chart ก็คือคนไข้ไม่จำเป็นต้องอ่านหรือบอกตัวอักษรออกมา นั่นหมายความว่า มันสามารถใช้ตรวจสอบสายตาในเด็กที่ยังพูดไม่ได้, คนพิการ หรือคนต่างชาติโดยไม่มีอุปสรรคด้านภาษา
ที่มา DailyGizmo