นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ออกมากล่าวว่าการเล่นเกมแนวแอ็คชั่นจำนวน 40 ชั่วโมงจะช่วยพัฒนาการมองเห็นของผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจกมาตั้งแต่กำเนิด หลังจากที่เคยมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ได้ทำการสรุปผลการวิจัยพบว่าเกมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการถนอมรักษาสายตาของเด็ก ล่าสุดทาง “ดาฟเน่ เมาเร่อ” (Daphne Maurer) นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ แคนาดา ก็ได้ค้นพบวิธีใหม่ในการเยียวยารักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อกระจก สำหรับโรคต้อกระจกนั้น เกิดจากเลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นแย่ลง ซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ทว่าโรคต้อกระจกก็อาจจะสามารถเกิดกับเด็กแรกเกิดได้ ซึ่งในปัจจุบันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการการผ่าตัดหรือใช้คอนแทคเลนส์แบบพิเศษ อย่างไรก็ตามการรักษาทั้งสองวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจจะไม่หายแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์และอาจติดตัวไปจนโต โดยเมาเร่อ กล่าวว่า “หลังจากการทดลองเล่นเกมแนวแอ็คชั่นเพียงแค่ 40 ชั่วโมงในระยะเวลาหนึ่งเดือนพบว่า ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่ดีขึ้นสามารถมองเห็นตัวพิมพ์ขนาดเล็ก, มองเห็นทิศทางการเคลื่อนที่ของจุดด็อต และสามารถระบุใบหน้าของแต่ละคนได้” ซึ่งผลทดลองดังกล่าวใช้วิธีการเดียวกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่ใช้การเล่นวิดีโอเกมส์จำนวน 40 ชั่วโมงในการรักษาผู้ป่วยโรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblyopia) นั่นก็คือเป็นการฝึกประสาทสายตาในการพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งไหนที่พวกเขาควรทำหรือไม่ควรทำ
ซึ่งดอกเตอร์เมาเร่อ จะนำผลการค้นพบของเธอไปนำเสนอที่ สมาคมเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Association for the Advancement of Science หรือ AAAS) ในเมืองแวนคูเวอร์ และจากผลวิจัยเชิงบวกของหลากหลายสถาบัน ไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคตตามคลินิกหรือแผนกรักษาโรคตาในโรงพยาบาลต่างๆอาจเปลี่ยนเป็นโซนตู้เกมอาเขตก็เป็นได้
ที่มา Manager