รมว.ไอซีที มั่นใจโครงการแท็บเล็ตเด็กป.1 แจกทันเปิดภาคเรียนพ.ค.นี้แน่ ด้าน กระทรวงศึกษาฯ เตรียมชงเรื่องเข้าครม.พุธนี้ (22 ก.พ.) พร้อมตั้งงบ 8 หมื่นล้านบาท วางสายเคเบิลใยแก้วหวังกระจายบรอดแบนด์เข้าถึงประชากร 80% ในปี 2558 เชื่อส่งผลจัดอันดับความน่าลงทุนด้านไอซีทีอยู่ที่ 37 ใน 4 ปี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่าความคืบหน้าโครงการแจกแท็บเล็ตเด็กป.1 ที่มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน ภายใต้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกระทรวงไอซีทีร่วมดำเนินการ ซึ่งล่าสุดจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าครม.สัญจรในวันพุธที่ 22 ก.พ. เพื่อเสนอรูปแบบของการจัดหาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี)
ทั้งนี้หากรัฐบาลเห็นชอบให้มีการจัดหาแบบจีทูจีก็จะไม่มีการประมูล แต่จะให้กระทรวงต่างประเทศไปประสานงานกับประเทศจีนในการจัดหาเครื่องแท็บเล็ตแทน โดยโครงการดังกล่าวเป็นการจัดหาแท็บเล็ตจำนวน 560,000 เครื่อง ในเบื้องต้นกำหนดราคาต่อเครื่องไว้ที่ 3,100 บาท และราคาประกอบ 300 บาท รวมราคาแล้ว 3,400 บาท/เครื่อง โดยราคาดังกลาวเป็นการตั้งขึ้น ยังไม่ใช่ราคาต่อรอง
'เรามั่นใจว่าเด็กป.1 จะได้ใช้แท็บเล็ตก่อนเปิดภาคเรียน 23 พ.ค.นี้แน่นอน จำนวน 5.6 แสนเครื่อง โดยจะเป็นการทยอยแจก เนื่องจากการจัดส่งคงไม่ได้มาล็อตเดียวครบทั้งหมด'
ขณะที่การตรวจรับแท็บเล็ตให้ตรงตามสเปกที่กำหนดไว้นั้น ทางคณะกรรมการชุดใหญ่จะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสเปกตามที่ได้กำหนดไว้ โดยเป็นสเปกเดิม คือ หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 16 กิกะไบต์ หน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู แบบดูอัล คอร์ ไม่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์ และหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 เมกะไบต์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.2 (Honeycomb ) และรองรับ แอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sandwich) ได้
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ไอซีทียังเร่งผลักดันโครงการสมาร์ท ไทยแลนด์ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเตรียมใช้งบลงทุนจำนวน 8หมื่นล้านบาท ในการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อเป็นการกระจายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ผ่านสายไฟเบอร์ให้เข้าถึงประชากรได้ 80% ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในลักษณะการใช้เสาสถานีฐานร่วม (Co-site) จากเอกชนทั้งหมดที่มีอยู่ 3.5 หมื่นสถานี
'หากโครงข่ายเข้าถึงประชากร และหากสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สินทรัพย์โครงข่ายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนสำเร็จ จะช่วยลดอัตราค่าใช้จ่ายของประชาชนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากประมาณ 6% ของรายได้ต่อประชากร เป็น3% และเหลือ1%ของรายได้ต่อประชากร'
อีกทั้งยังช่วยให้ผลการศึกษาของ World Economic Forum หรืออันดับการน่าลงทุนด้านไอซีทีในประเทศไทยขยับอันดับขึ้นมาจากเดิมที่อยู่อันดับ 59 ให้ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 34 ภายใน 4 ปีข้างหน้าให้ได้
Company Relate Link :
ICT
ที่มา: manager.co.th