พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช. คาดไตรมาส 2 ปีนี้เห็นการทดลองออกอากาศระบบดิจิตอล 6 ช่องฟรีทีวี 2 ช่อง HD แน่ พร้อมประกาศแผนโรดแมป 4 ปี โดย 2 ปีแรกเห็นใบอนุญาตฯ กิจการสาธารณะ กิจการธุรกิจ และชุมชน ก่อนจะยุติแพร่ภาพระบบอนาล็อกม.ค.58 ด้านแหล่งข่าวระบุช่อง3, 9 เมินไม่เข้าร่วม เหตุเพราะเสียผลประโยชน์ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. กล่าวว่า ทางกสทช.ได้ประกาศแผนการดำเนินงาน (โรดแมป) ซึ่งเป็นแผนเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2555-2559 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้เริ่มยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกภายในปี 2558 หรือภายใน 4 ปีข้างหน้า และยังได้กำหนดให้ครัวเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 5 ปี ซึ่งรวมถึงกรอบช่วงเวลากระบวนการออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ด้วย
กสทช.ได้วางเป้าหมายในช่วง 2 ปีแรกของโรดแมปเอาไว้ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เริ่มต้นทำแผนการปรับเปลี่ยนฯ สู่ระบบดิจิตอล และออกไลเซ่นส์ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายช่วงเดือนสิงหาคม 2555 ทำการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะเดือนธันวาคม 2555 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2556 และออกใบอนุญาตสำหรับกิจการบริการชุมชนภายในเดือนธันวาคม 2556
นอกจากนี้ พ.อ.นที ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกระบวนการออกไลเซ่นส์ ทีวีดิจิตอลนั้นกำหนดช่วงเวลาออก 2 ช่วง ช่วงที่ 1 อยู่ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ถึงเดือนธันวาคม 2556 และช่วงที่ 2 อยู่ในเดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2558 ส่วนกระบวนการออกไลเซ่นส์โมบายทีวีนั้นกำหนดไว้เป็น 2 ช่วงเช่นกัน ในช่วงแรกจะเริ่มต้นดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 - มิถุนายน 2557 และช่วงที่ 2 จะเริ่มที่เดือนมิถุนายน 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2558 พร้อมทั้งยุติออกอากาศระบบอนาล็อก และเป็นดิจิตอลเต็มที่ในเดือนมกราคม 2558
ในช่วงไตรมาส 2 นี้ กสทช.จะเริ่มทดลองออกอากาศทีวีระบบดิจิตอลใน 6 ช่องมาตรฐาน และ 2 ช่องที่เป็น High-definition หรือ HD พร้อมทั้งทดสอบมาตรฐานการออกอากาศในรูปแบบต่างๆ ว่ารูปแบบหรือระบบใดเหมาะกับประเทศไทย
“มั่นใจว่าประชาชนจะได้เห็นการทดลองออกแพร่ภาพออกอากาศในระบบดิจิตอลได้ในไตรมาส 2/55 แบบ Standard digital หรือ SD จำนวน 6 ช่องฟรีทีวี และอีก 2 ช่องที่เป็น HD” ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 5, 7, 11 และไทยพีบีเอส ได้ส่งคนเข้าร่วมในงานครั้งนี้ด้วย ส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยในการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอนาล็อกไปสู่ทีวีระบบดิจิตอล และมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน โดยยินดีจะร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของประเทศในครั้งนี้ ขณะที่ช่อง 3 และช่อง 9 กลับไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในงานแถลงข่าวด้วย
แหล่งข่าวภายในกสทช.ระบุว่า สาเหตุที่ช่อง 3 หรือบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 9 ไม่เข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ เนื่องจากฟรีทีวีทั้ง 2 ช่องไม่เห็นด้วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล เพราะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดผลกระทบโดยตรง
ขณะที่นางสาวอัมพวัน เจริญกุล ผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือช่อง 11 กล่าวว่า ที่ประชุมในคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมสาระสำคัญเรื่อง มาตรฐานการใช้ระบบทีวีดิจิตอลว่าจะใช้รูปแบบและระบบมาตราฐานจากประเทศใด เนื่องจากปัจจุบัน มีทั้งระบบของประเทศทางยุโรป จีน ญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าว รวมถึงได้เชิญสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมฯชุดดังกล่าว ทั้งนี้ช่อง 11 พร้อมที่จะก้าวสู่ระบบดิจิตอลมานานแล้ว และได้เตรียมปรับแผนผังรายการในปี 2555
“การที่กสทช.ประกาศแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลล่วงหน้าเป็นสิ่งดีเพราะทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องต่างๆ ได้มีการเตรียมตัว โดยเฉพาะสถานีของรัฐ ซึ่งขณะนี้สถานีได้ทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลบางส่วนแล้วแต่อาจไม่รวดเร็วเท่าสถานีช่องอื่น ซึ่งคาดว่าจะพร้อมออกอากาศในระบบดิจิตอลในปี 2558" Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th