คณะทำงานไอซีที ชุด พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เตรียมส่งผลสรุปการพิจารณาสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ระหว่างกลุ่มทรูกับกสท ให้ รมว.ไอซีที ตัดสินใจสัปดาห์หน้า หลังพบสัญญามีปัญหาหลายจุด พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ระหว่างกลุ่มทรูกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ของกระทรวงไอซีที กล่าวว่า คณะทำงานได้สรุปความเห็นทั้งหมดและรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะรายงานผลสรุปพร้อมข้อเสนอแนะของคณะทำงานให้น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกสทในสัปดาห์หน้า เพื่อให้รมว.ไอซีทีตัดสินชี้ขาด เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
‘คณะทำงานพิจารณาจากกระบวนการในการตัดสินใจทำสัญญาตั้งแต่ต้น พิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้องขององค์กร ข้อกฏหมายต่างๆ ซึ่งพบว่าในภาพรวมแล้วสัญญานี้มีปัญหาในหลายจุดมาก’
อย่างไรก็ตามคณะทำงานไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า แต่พิจารณาภายใต้กรอบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดูว่าการละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกรอบกฏหมายต่างๆ ทำให้เกิดการได้หรือเสียประโยชน์เช่นไร และที่สำคัญมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นหรือไม่
***กรรมาธิการฯ ชี้สัญญาทรู/กสท ผิดกม. คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภาได้สรุปผลการตรวจสอบสัญญาการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ระหว่างกลุ่มทรูกับกสทเสร็จแล้ว โดยสรุปว่า สัญญาระหว่างกลุ่มทรูกับกสทมิชอบด้วยกฎหมาย คือ การทำสัญญาขัดมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. เพราะบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) บริษัทในเครือกลุ่มทรู ที่เป็นผู้สร้างและจัดหาและอุปกรณ์โทรคมนาคม และยังเป็นผู้ให้เช่าโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 อีกทั้งบีเอฟเคที ยังเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการใช้คลื่นความถี่โดยตรง ขณะที่ กสท เป็นเพียงผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานด้วยเท่านั้น ดังนั้น จึงเสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามมาตรา 31 วรรค 2 ของพ.ร.บ.กสทช. ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการรายใดที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ และหาก กสท ได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัตตาม กสทช.ก็มีอำนาจปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาทไปจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง อีกทั้งยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบสวนเอาผิดแก่ผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคนที่อนุมัติให้ กสท เข้าทำสัญญากับกลุ่มทรูทั้งหมด
ทั้งนี้กรรมาธิการฯ ต้องนำเสนอผลสอบกับประธานวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงไอซีทีเพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวน หากพบความผิดต้องนำเสนอเข้าครม.เพื่อดำเนินการยกเลิกสัญญา รวมทั้งเสนอป.ป.ช.เพื่อพิจารณามูลความผิดหากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง สำหรับสัญญาระหว่างกลุ่มทรูกับกสทดังกล่าว จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่มีนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรมว.ไอซีที ประเด็นที่ยังต้องสอบสวนให้ได้ความกระจ่างคือ นายจุติ มีนโยบายไม่ให้กสทซื้อฮัทช์ในราคาเกิน 4,000 ล้านบาทโดยอ้างว่าเหมือนการซื้อเศษเหล็ก เมื่อกสทซื้อฮัทช์ไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทรูซื้อฮัทช์แทนด้วยเงินประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่กสทเสนอซื้อ
‘ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด เกิดจากนโยบายนายจุติคนเดียว ที่ไม่ให้กสทซื้อฮัทช์ทั้งๆที่เคยมีมติครม.อนุมัติให้ซื้อได้แล้ว หากจะสอบสวนหาเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบ ฝากชื่อนายจุติ ไกรฤกษ์ ไว้ด้วยสักคน’ สำหรับสัญญากลุ่มทรูกับกสท หากไม่มีข้อน่าสงสัย คงไม่ถูกตรวจสอบรอบด้าน เกือบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา ,คณะทำงานกระทรวงไอซีทีชุดพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ,คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของป.ป.ช.ที่มีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธาน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
Company Relate Link :
ICT
ที่มา: manager.co.th