แฟ้มภาพโฮเวิร์ด สตริงเจอร์ (ซ้าย) และ คาซุโอะ ฮิราอิ หัวเรือใหญ่ธุรกิจเกมที่กำลังจะขึ้นเป็นซีอีโอโซนี่วันที่ 1 เมษายนนี้
ผลกระทบจากวิกฤษยอดขายทีวีตกต่ำ ร่วมกับภาวะค่าเงินเยนแข็งตัว และอุทกภัยในประเทศไทยที่ทำให้สายการผลิตหยุดชะงัก ส่งให้โซนี่ (Sony Corp.) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แดนอาทิตย์อุทัยประกาศผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1.59 แสนล้านเยน (ราว 6.51 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา คาดส่งให้ผลประกอบการทั้งปีของโซนี่จะขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ หลังจากประกาศแต่งตั้งคาซุโอะ ฮิราอิ (Kazuo Hirai) หัวเรือใหญ่ฝ่ายเกมขึ้นเป็นซีอีโอโซนี่แทนโฮเวิร์ด สตริงเจอร์ (Howard Stringer) ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการ 1 เมษายนนี้ โซนี่กลับต้องออกมาประกาศว่า ปีการเงิน 2011-2012 ของบริษัท ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ บริษัทอาจต้องขาดทุนราว 2.2 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านเยนที่เคยประเมินไว้เมื่อปลายปี 2011
การประกาศครั้งนี้ทำให้ปี 2012 คือปีที่โซนี่จะมีผลประกอบการติดตัวแดงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ทั้งที่ผ่านมา โซนี่ลงมือรัดเข็มขัดตัดค่าใช้จ่ายขององค์กรพร้อมกับการปรับโครงสร้างบริษัทอย่างจริงจัง เพื่อหวังลดต้นทุนให้สัดส่วนกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เบื้องต้น ฮิราอิแสดงนโยบายชัดเจนว่าจะหันไปกู้สถานการณ์โซนี่ในกลุ่มธุรกิจจำหน่ายทีวีเป็นพิเศษ เท่ากับโซนี่จะเพิ่มดีกรีการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้อย่างซัมซุงให้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ฮิราอิซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในธุรกิจเกมของโซนี่ยังมีนโยบายขยายตลาดเกมพกพาอย่างจริงจัง ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดจากแอปเปิล (Apple Inc.) ซึ่งมีสินค้าอย่าง iPod และ iPhone คอยแย่งตลาดเกมพกพาอยู่แล้ว รวมถึงคู่แค้นอย่างนินเทนโด (Nintendo Inc.) ที่มีอุปกรณ์ DS ทำตลาดอยู่
"นโยบายของเรานั้นชัดเจน คือการผลักดันให้ธุรกิจหลักเติบโตต่อไป ทั้งธุรกิจเรื่องภาพดิจิตอล อุปกรณ์พกพาอัจฉริยะ และเกม, กู้สถานการณ์ธุรกิจทีวี และสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เราสามารถสร้างธุรกิจใหม่" ฮิราอิ ในวัย 51 ปีกล่าว
โซนี่นั้นเป็นบริษัทที่สามารถทำยอดจำหน่ายสินค้าราว 70% จากตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น ภาวะเงินเยนแข็งตัวทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยค่าเงินทำให้ตัวเลขกำไรของโซนี่ลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สวนทางกับภาวะค่าเงินเยนอ่อนตัวซึ่งโซนี่จะได้รับประโยชน์จากการส่งออก
สำหรับวิกฤติน้ำท่วมประเทศไทยเมื่อปลายปี 2011 โรงงาน 2 แห่งของโซนี่ต้องปิดตัวลงและยังไม่สามารถเปิดสายพานการผลิตได้เต็มที่ดังเดิม โดยข้อมูลจากซัตซึกิ ชินนะกะ (Satsuki Shinnaka) ประชาสัมพันธ์โซนี่ระบุว่าขณะนี้โซนี่ได้ย้ายสายการผลิตไปยังโรงงานอื่นชั่วคราว ซึ่งยังไม่มีรายงานการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
Company Related Link :
Sony
ที่มา: manager.co.th