บริษัทนินเทนโด ออกมาเปิดเผยกำลังพิจารณาหาชื่อใหม่ให้กับเครื่องคอนโซลยุคต่อไป ซึ่งตอนนี้รู้จักกันในชื่อ
“Wii U” อ้างว่าอาจทำให้ลูกค้าสับสนกับเครื่องรุ่นก่อน อีกทั้งยังแอบซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีจดจำเสียงที่สามารถเปลี่ยนเสียงพูดให้เป็นข้อความตัวอักษร เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง “ซาโตรุ อิวาตะ” ประธานบริษัทนินเทนโด เคยออกมาประกาศว่าเครื่องคอนโซลรุ่นถัดไป “Wii U” จะพร้อมออกวางจำหน่ายทั่วโลกในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งปลายปี 2012 อีกทั้งยังจะนำเครื่องเวอร์ชั่นพร้อมจำหน่ายมาโชว์ในงาน E3 ในเดือนมิถุนายนปีนี้อีกด้วย ล่าสุดบนเว็บไซต์ CVG รายงานว่ามีแหล่งข่าวที่อ้างว่าใกล้ชิดสนิทกับทางนินเทนโดได้ออกมาระบุว่าตอนนี้ทางบริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเครื่องคอนโซลตัวใหม่ที่เพิ่งถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน E3 เมื่อปี 2011 ซึ่งทางอิวาตะได้เรียนรู้มาจากความผิดพลาดในอดีตและจะไม่ทำผิดซ้ำสองกับเครื่องคอนโซลรุ่นถัดไปของบริษัท
โดยแหล่งข่าวได้ระบุถึงสาเหตุโดยอ้างว่ทางนินเทนโดรู้สึกไม่ค่อยสู้ดีนักกับเสียงตอบรับที่ตามมาซึ่งส่งผลให้หุ้นบริษัทตกลงไปภายหลังการประกาศเปิดตัวเครื่อง “Wii U” ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และกังวลว่ามันอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนกับเครื่องคอนโซลรุ่นก่อนอย่าง “Wii” ซึ่งก่อนหน้าก็เคยมีกรณีเข้าใจผิดแบบเดียวกันนี้ที่เป็นสาเหตุทำให้ยอดขายเปิดตัวเครื่องพกพารุ่นใหม่ “3DS” ออกมาย่ำแย่ จนฝ่ายการตลาดของนินเทนโดต้องออกมาชี้แจงย้ำเตือนผู้บริโภคว่าเครื่อง “3DS” ไม่ใช่เพียงแค่เครื่อง “DS” อีกรุ่นเท่านั้น แต่มันเป็นเครื่องเกมพกพาตัวใหม่ ซึ่งถ้าหากเครื่อง “Wii U” ถูกเปลี่ยนชื่อจริงในอนาคต มันก็จะเป็นการย้อนรอยเครื่องคอนโซลรุ่นพี่ที่เคยใช้ชื่อตอนพัฒนาว่า “Revolution” แล้วต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “Wii” ตอนเปิดตัวที่งาน E3 ในปี 2006 ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีขึ้นจากทั้งเหล่าคอเกมและบรรดานักวิเคราะห์
นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่น NHK ยังได้รายงานเพิ่มเติมระบุว่า ในตอนนี้ทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในญี่ปุ่นอย่าง NTT Docomo กำลังทำงานร่วมกับนินเทนโดและบริษัทอื่นๆในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจดจำเสียง โดยเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถแปลงเสียงจากผู้พูดมาเป็นข้อความตัวอักษรได้ และเทคโนโลยีดังกล่าวเคยถูกนำมาใช้ช่วยในการศึกษาในชั้นเรียนสำหรับเด็กพิการทางหู นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับนินเทนโด เนื่องจากก่อนหน้านี้เครื่อง DS ก็เคยถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน โดยขณะที่อาจารย์กำลังสอน ทุกคำพูดของอาจารย์จะถูกแปลงเป็นข้อความตัวหนังสือและจะแสดงผลไปปรากฏอยู่ทั้งบนหน้ากระดานดำอิเล็กทรอนิกส์และบนหน้าจอเครื่อง DS ของนักเรียน ซึ่งการสอนทั้งหมดจะถูกบันทึกอยู่ในรูปแบบคลาวด์สตรีมมิ่ง เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเข้ามาเปิดอ่านได้ตลอดเวลา
ที่มา Manager