อินฟอร์ มั่นใจตลาดอีอาร์พี (ERP) ไทยยังรักษาการเติบโตเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย พลิกวิกฤตน้ำท่วมเป็นโอกาสผลักดันแผนกู้คืนระบบจากความเสียหาย พร้อมเปิดตัวโซลูชันใหม่ ให้สามารถความคุมระบบการผลิตได้จากอุปกรณ์เคลื่อนที่
มาร์ค ฮัมเฟล็ต ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม บริษัท อินฟอร์ โกลบอล โซลูชั่นส์ กล่าวว่า ธุรกิจอีอาร์พี (ระบบบริหารทรัพยากรองค์กร) มีอัตราการเติบโตทั่วโลกราว 5-10% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค ถึงแม้ว่าในสหรัฐฯ และยุโรป จะมีผลกระทบจากทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในภูมิภาคเอเชียยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
'ตลาดอีอาร์พีในเอเชีย คิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ราว 25% ของอินฟอร์ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ และยุโรปราว 30-40% ซึ่งรายได้รวมของอินฟอร์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญฯ คิดเป็นอันดับ 3 ในตลาดซอฟต์แวร์องค์กร รองจากผู้นำอย่างออราเคิล'
นายรณชาติ มหัทธนะพฤทธิ์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย อินฟอร์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีอัตราการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากปีล่าสุดธุรกิจอีอาร์พีเติบโตถึง 30% จากปีก่อนหน้าที่เติบโตราว 15-20% ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโอกาสในการนำเสนอโซลูชันให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา
'มีลูกค้าอินฟอร์ราว 30-40 แห่ง โดนน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม นวนคร ไฮเทค โรจนะ ซึ่งส่วนใหญ่ตัวระบบจะไม่ค่อยเสียหายมากนัก แต่ในด้านกระบวนการผลิตจะล่าช้าเพราะเครื่องจักรถูกน้ำท่วมมากกว่า ซึ่งในจุดนี้อินฟอร์ก็มีโซลูชันสำรองและกู้คืนข้อมูล ไว้ในสถานที่อื่นเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ถ้าเกิดอุทกภัยขึ้นอีก'
ในช่วงหลังน้ำท่วม อินฟอร์ มีแคมเปญให้ลูกค้าเก่า และใหม่ สามารถใช้แผนกู้ระบบจากความเสียหาย ในราคาที่ถูกกว่าปกติ 50% เพื่อช่วยเหลือลูกค้า และเพิ่มฐานลูกค้าที่ใช้งานไปในตัว ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้เมื่อลูกค้ามีความเชื่อถือในระบบมากขึ้น ก็จะก้าวเข้ามาใช้งานโซลูชันอีอาร์พีต่อไป
'สัดส่วนลูกค้าของอินฟอร์ในไทยกว่า 65% จะเป็นในเรื่องของระบบอีอาร์พี ในขณะที่อีก 35% จะใช้ระบบการจัดการทรัพยากร แต่เชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนดังกล่าวจะกลายเป็น 60/40 เมื่อโซลูชันอีอาร์พี ถึงจุดอิ่มตัว เพราะอุตสาหกรรมการผลิตยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง'
ส่วนเวอร์ชันล่าสุดของโซลูชัน อินฟอร์ 10 อีอาร์พี บิซิเนส ไซต์ไลน์ (Syte Line) 8.03 จะช่วยเพิ่มความสามารถให้แก่องค์กรที่ต้องการรูปแบบการใช้งานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับแต่งอินเตอร์เฟส ใช้งานผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิต สามารถจัดการอุปสงค์และอุปทานได้สะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ
โดยฟังก์ชันหลักของไซต์ไลน์ คือระบบการวางแผนและกำหนดตารางงานล่วงหน้า สามารถใช้กำหนดค่าผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน บริหารจัดการวัตถุดิบ และสินค้าคงคลัง ติดต่อกับลูกค้าจากฐานข้อมูล ซึ่งตัวซอฟต์แวร์ทำงานบนพื้นฐานของไมโครซอฟท์ ทำให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ทันที
นายรณชาติ กล่าวว่า ในส่วนของโซลูชันที่ใช้งานบนระบบคลาวด์นั้น ในเบื้องต้นอาจจะยังไม่นำเข้ามาใช้งานในไทย เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกสักพัก แต่จากโซลูชันที่มี เชื่อว่าถ้ามีความต้องการใช้งานอินฟอร์ก็พร้อมที่จะนำเข้ามาทำตลาดต่อไป
Company Related Link :
Infor
ที่มา: manager.co.th