นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
ขอโทษซ้ำซาก ดีแทคแจงเหตุเครือข่ายขัดข้อง 3 ครั้งใน 3 อาทิตย์ พร้อมออกมาตรการแก้ไขปัญหา ประกาศทำทุกอย่างเพื่อเรียกความมั่นใจลูกค้ากลับคืน เตรียมทุ่ม 4 หมื่นล้านบาทขยายเครือข่ายใน 3 ปี ด้าน กสทช. เผยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงโทษแต่อย่างใด แต่จะแก้ไขประกาศ และกฏระเบียบให้ครอบคลุมกว่าฉบับเก่า พร้อมแนะให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง หากไม่พอใจก็ใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย
นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมากับเครือข่ายการให้บริการของดีแทคจนไม่สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐาน ซึ่งดีแทคมีความมั่นใจ 100% ในประสิทธิภาพของเครือข่าย และมั่นใจ 100% ในการที่จะให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า ทีมงานของดีแทคได้พิจารณาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในอนาคต โดยมีความมุ่งมั่นว่าจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้ากลับคืนมา
'ผมขอโทษด้วยใจจริง ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นโชคร้ายสำหรับดีแทค ถึงแม้จะไม่สามารถรับประกัน 100%ว่า จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือจะเกิดความขัดข้องในการให้บริการ เป็นเรื่องที่รู้กันของผู้ประกอบการทางด้านโทรคมนาคม ถึงแม้ทางดีแทคจะมีมาตรการเยียวยาออกมา ก็คงไม่เทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิตใจ ที่ยากจะชดเชยได้'
ดีแทคตั้งใจที่จะปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายทั้งในส่วนของ 2G และ 3G โดยใช้เวลาทั้งหมด 2 ปีนั้น เป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมดบนเครือข่ายที่ใช้งานมา 18 ปี มาสู่เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการของดีแทค ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ที่ดีแทคลงนามในสัญญากับบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย)
ทั้งนี้จากการสืบสวนปัญหาการให้บริการขัดข้องที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2554 เกิดจากการโยกย้ายฐานข้อมูลผู้ใช้บริการหรือ HLR เก่าไปยัง HLR ใหม่ ซึ่งทีมงานสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พอมาเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ขัดข้องขึ้นเป็นครั้งที่สอง เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในส่วนของชุมสายจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการใน 7 จังหวัดภาคใต้ประมาณ 9 แสนราย ถึงแม้จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับมีผลกระทบต่อ HLR ด้วยทำให้เกิดปัญหาต่อลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟนโดยเฉพาะไอโฟน4 ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดความเสียหายกับเครือข่ายเคเบิลใยแก้วภาคใต้ของดีแทคอีกครั้งใน2 เส้นทางคือเส้นแรกเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนเสาไฟฟ้าล้มที่ปราณบุรีทำให้สายเคเบิลได้รับความเสียหาย ในเวลาห่างกันแค่ 2 นาที เกิดเหตุเคเบิลใยแก้วเส้นที่ 2 เสียหายเพราะการจุดไฟเผาทุ่งหญ้าในจังหวัดเพชรบุรี ทำให้เกิดบริการขัดข้องในจังหวัดภาคใต้อีกครั้ง โดยดีแทคได้ส่งทีมงานซ่อมบำรุงฉุกเฉินลงไปและสามารถแก้ไขสถานการณ์กลับคืนมาเป็นปกติภายใน 2 ชั่วโมง
จากเหตุขัดข้องของเครือข่ายในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ดีแทคได้ออกมาตรการเยียวยาเหตุการณ์ครั้งแรกในลักษณะของการชดเชยค่าเสียหายจากการใช้บริการ โดยคำนวณจากลักษณะการใช้งานของลูกค้าเป็นเกณฑ์ ซึ่งบริษัทได้ชดเชยไปประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองที่เกิดขึ้น ทางดีแทคได้มีการเยียวยาไปทั้งสิ้น 50 ล้านบาท
'จากการสืบสวนในเชิงลึกในเหตุการณ์แรก ได้ตัดสินใจยุติการถ่ายโอนข้อมูลออกไป 4-6 สัปดาห์ พร้อมกับเพิ่มความจุของ HLR เป็น 2 เท่าของที่มีอยู่ เพื่อดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ใหม่เข้ามาเสริม'
ส่วนมาตรการเยียวยาเหตุการณ์ที่ 3 นั้น ในเรื่องค่าเสียหายยังอยู่ในช่วงดำเนินการอยู่ แต่ได้สั่งให้ทีมงานดำเนินการออกแบบเคเบิลใยแก้วเส้นที่ 3 เข้ามาเสริมอีก 1 เส้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้
นายจอนย้ำว่า ดีแทคจะยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการทั้งในเรื่องเครือข่ายและการให้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ มากกว่าความสูญเสียทางด้านรายได้ที่เกิดจากเหตุการณ์ขัดข้องของเครือข่ายที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าที่จะลงทุนในเรื่องเครือข่ายในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่ 4หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนใน 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการลงทุนที่จะเข้าไปประมูลใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz ส่วนที่ 2 ลงทุนขยายเครือข่าย 3G ความถี่ 850 MHz และส่วนที่ 3 ลงทุนเครือข่าย 3G บนคลื่น 2.1 GHz
'ดีแทคยังเป็นเบอร์ 2 ในตลาด ซึ่งมั่นใจว่า ดีแทคยังคงแข็งแกร่งทั้งในภาคของธุรกิจและการเงิน โดยผู้ถือหุ้นมีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดในปีนี้อย่างต่อเนื่อง'
***กสทช.แนะลูกค้าย้ายค่าย พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังฟังดีแทคชี้แจงปัญหาว่ากสทช.มองว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากบุคลากรที่ขาดทักษะในการบริหารระบบอย่างที่เคยได้กล่าวไว้ในตอนที่เกิดเหตุปัญหาล่มในครั้งแรกก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตามกสทช.ไม่มีบทลงโทษกับดีแทคแต่อย่างใดเนื่องจากประเทศไทยมีกฏหมายที่ล้าหลังจึงไม่มีบทลงโทษในกรณีดังกล่าว อีกทั้งประกาศ หรือกฏระเบียบของกสทช.ฉบับเก่าก็ไม่มีอำนาจที่จะลงโทษในกรณีเช่นนี้ ดังนั้นทางในอนาคตกทค.จะต้องมีการปรับปรุงกฏหมายใหม่ให้มีความครอบคลุมกว่าในอดีต ซึ่งในตอนนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่
ขณะเดียวกันหากประชาชนไม่พอใจมาตรการเยียวยาของดีแทค ก็สามารถดำเนินการในทางแพ่งได้ โดยทางกสทช.จะเป็นผู้ประสานงานให้ได้เท่านั้น หรือลูกค้าสามารถตัดสินใจใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability)ในการย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปค่ายอื่นที่มีอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในการตัดสินใจแก้ปัญหาดังกล่าว หากกลัวว่าจะเกิดซ้ำรอยเดิมเป็นครั้งที่ 4
'ดีแทคคงต้องพิจารณาตนเองว่าทำไมถึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการรายอื่นอย่าง ทรู หรือ เอไอเอส ที่ใช้อุปกรณ์ยี่ห้อเดียวกันคือ บริษัท อีริคสัน(ประเทศไทย) แต่กลับไม่มีปัญหาแต่อย่างใด'
Company Related Link :
Dtac
ที่มา: manager.co.th