ไมโครซอฟท์ เร่งผลักดันองค์กรขนาดใหญ่ ให้นำไอทีมาใช้วางแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หวังขยายตลาดแพลตฟอร์ม ให้ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา แม้เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุไม่สงบทางการเมือง หลังแบงก์ชาตินำร่องใช้งานแล้ว
นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้างจากการวิเคราะห์ของเวิลด์ แบงก์พบว่า อุทกภัยในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คิดเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 4.2 พันล้านเหรียญ หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาท มีผู้เสียชีวิตราว 700 คน
ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีงบประมาณของไมโครซอฟท์ แน่นอนว่าโดนผลกระทบจากน้ำท่วม ในแง่ของจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้จำหน่ายออกไป แต่ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 2 หลัก แม้จะลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้ในครึ่งปีหลังจะเน้นไปที่การวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อให้สามารถทำรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
'ภัยพิบัติอาจเกิดขึ้นอีก จึงควรที่จะมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องสำหรับทุกภาคส่วน และแน่นอนว่าไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับไอที จึงเน้นที่จะนำการใช้งานไอที มาใช้ในช่วงภัยพิบัติ ให้ไอทีกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ BCP สามารถดำเนินการต่อไปได้'
แม้ว่าหลายบริษัทจะมี BCP แต่เชื่อว่าหลายองค์กรยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากยังไม่มีความเข้าใจในการนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย 3 เหตุหลักที่ทำให้เกิดการนำไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างในเหตุการณ์น้ำท่วม พนักงานไม่สามารถติดต่อสื่อสาร ไม่สามารถเข้าที่ทำงาน และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก
โซลูชัน BCP ของไมโครซอฟท์จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ 1. Teleworking ทำให้สามารถทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ทางอินเทอร์เน็ต 2. Energy and Cost saving โดยวินโดวส์ 7 และ เซิร์ฟเวอร์ 2008 ช่วยประหยัดพลังงาน 25% ทำให้ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติสามารถทำงานต่อไปได้ และ 3. Data Protection and Virtualization ที่มีระบบสำรอง และกู้ข้อมูลภายในตัว จะช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงทุนทำระบบ BCP ไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วงภัยพิบัติ ธนาคารสามารถดำเนินการต่อไปได้ แม้พนักงานหลายคนจะโดนผลกระทบจากน้ำท่วม หรือแม้แต่ภายในไมโครซอฟท์เองก็เช่นกัน ที่พนักงานกว่า 71% ของบริษัทต้องอพยพจากพื้นที่ภัยพิบัติ
'การลงทุนด้านโซลูชัน BCP จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สร้างอินฟราสตรักเจอร์เพื่อใช้ภายในองค์กร หรือ เช่าคลาวด์ของไมโครซอฟท์เพื่อใช้งานในองค์กรขนาดเล็ก ทำให้ราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักพันบาทต่อบัญชีผู้ใช้ โดยกลุ่มลูกค้าหลักของ BCP จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีเป็นหลัก'
Company Related Link :
Microsoft
ที่มา: manager.co.th