ไอซีทีเดินหน้าพลิกโครงสร้างการจัดซื้อไอทีภาครัฐทั้งประเทศ เรียก สรอ.ตั้งระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ควักงบ 50 ล้านบาท คาดจะลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีจากภาครัฐได้ 30% เตรียมตัวนำร่อง 3 เดือนก่อนเปิดให้บริการจริง เม.ย.55 คาดรองรับหน่วยงานภาครัฐได้ 100 หน่วยงาน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า จากการสำรวจค่าใช้จ่ายภาครัฐในตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ และตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ พบว่ามีสัดส่วนถึง 81% จากมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของภาครัฐทั้งหมด หรือมูลค่าค่าใช้จ่ายเกือบ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาทำให้ภาครัฐมักได้ใช้เทคโนโลยีเก่าในราคาแพง แต่ปริมาณความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐนำระบบอิเล็กทรอนิคส์มาใช้สูงขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นจึงได้มีการตั้งเทคโนโลยีระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของภาครัฐ
"การทำบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีแผนการดำเนินงานทั้งระบบสั้น และระยะยาว โดยคาดว่าจะช่วยประหยัดงบลงทุนด้านไอซีทีของประเทศได้ 30 %"
ทั้งนี้โครงการนำร่องบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) เป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์ ซึ่งการที่หน่วยงานรัฐจะให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) แก่ประชาชนได้ต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
ทางด้าน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่าในการดำเนินงานเรื่องคลาวด์ฯนั้นเบื้องต้นได้จัดทำระบบทดสอบร่วมกับหน่วยงานนำร่องจำนวน 10 หน่วยงาน อย่างกระทรวงสาธารณะสุข กรมธนารักษ์ เป็นต้น เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำคลาวด์มาใช้งานจริงในการให้บริการประชาชน
เบื้องต้นใช้งบในการดำเนินงาน 50 ล้านบาทของปีงบประมาณ 2555 โดยในช่วงแรกจะเป็นการทดสอบ 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค. - เม.ย. 2555 โดยแต่ละหน่วยงานจะได้รับจัดสรรเครื่องแม่ข่ายที่อยู่บนระบบคลาวด์ของ สรอ. เมื่อทดสอบเสร็จจะนำผลที่ได้มาศึกษาถึงความต้องการและผลกระทบเพื่อเป็นแนวทางในการเปิดให้บริการจริงในช่วงหลังเดือน เม.ย.55 และจะเปิดเผยผลการศึกษาได้ในช่วงกลางปีนี้
จากผลการสำรวจตลาดไอทีในประเทศไทย พบว่า ปี 2554 มีการขยายตัวสูงถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าตลาด 293,237 ล้านบาท ภาครัฐมีการจ่ายด้านไอทีประมาณ 20.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 59,818 ล้านบาท ในส่วนของบริการด้าน Data Center and Disaster Recovery Center มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 6,903 ล้านบาท โดยภาครัฐมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถึง 2,567 ล้านบาท หรือ 38.5 เปอร์เซ็นต์เพื่อใช้ในการสร้างศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ จัดหาครุภัณฑ์ เครื่องแม่ข่ายและระบบ
ขณะที่สิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐจากการดำเนินโครงการนี้ คือ สามารถให้บริการทางด้านเทคโนโลยีได้ทันที จากเดิมที่ต้องรอบริการอย่างน้อย 6 เดือน จะเหลือเพียงการใช้บริการภาครัฐเสร็จใน 1 วัน โดยการทำงานจะทำบนเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) โดยเดือนเม.ย.55 ที่เปิดให้บริการจะสามารถรองรับหน่วยงานภาครัฐเข้าใช้งานได้ 100 หน่วยงาน
Company Relate Link :
ICT
ที่มา: manager.co.th