อันดับแรก การเสียชีวิตของ “สตีฟ จ็อบส์” : จากชนชั้นกลางสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก “สตีฟ จ็อบส์”ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท“แอปเปิล”เป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อโลกและได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก การเสียชีวิตของเขาในวันที่ 5 ตุลาคมหลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานกับโรคมะเร็ง ฝูงชนที่เศร้าโศกเสียใจร่วมจุดเทียน วางดอกไม้ และเขียนข้อความไว้อาลัยให้จ็อบส์ที่หน้าร้านแอปเปิลนับร้อยสาขา และหนังสือชีวประวัติของจ็อบส์ที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซคสันซึ่งออกในเดือนพฤศจิกายนถัดมากลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลกในทันที
นอกจากร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิลแล้ว จ็อบส์ยังเป็นผู้สร้างทีมที่ทำงานร่วมกับเขาในการคิดค้นอุปกรณ์ไอทียอดนิยมอย่าง ไอแมค ไอพอด ไอโฟดและไอแพด นอกจากนี้จ็อบส์ยังเคยเป็นประธานกรรมการบริหารพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อก้องอย่าง “ทอย สตอรี่”และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ใน ค.ศ. 2006 อีกด้วย
อันดับสอง โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือของผู้ประท้วง : ต้องยกความดีให้กับเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์และยูทูป หลังจากมีบทบาทใน“การปฏิวัติประชาธิปไตยอาหรับ”หรือเหตุการณ์การประท้วงอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2010 ที่โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวการเดินขบวนประท้วงให้ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ชาวอียิปต์รวมตัวกันต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำนาจอันยาวนานของประธานาธิบดีมูบารัค
ในส่วนอื่นๆ ของโลกเช่นการก่อจลาจลในกรุงลอนดอน ผู้ร่วมก่อจลาจลก็กระจายข่าวโดยใช้แบล็คเบอร์รี่ ส่วนความเคลื่อนไหวในการการยึดครองวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) และส่วนอื่นๆ ในอเมริกาก็มักจะมีผู้ทวีตข้อมูลขึ้นทันทีในทวิตเตอร์ การใช้โซเชียล มีเดีย เป็นเครื่องมือของผู้ประท้วงได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดย “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค”ซีอีโอของเฟซบุ๊คได้กล่าวบนเวทีการประชุมของเขาในปีนี้ว่า” เราอยู่บนทางแยกของเทคโนโลยีและประเด็นทางสังคม”
อันดับสาม : ในปีนี้แฮกเกอร์หรือกลุ่มคนที่ก่อความวุ่นวายในอินเทอร์เน็ตสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกออนไลน์ทั่วโลก ในทุกวงการ ทั้งอี-คอมเมิร์ช ธนาคารหรือศาสนจักร
อันดับสี่ ความเฟื่องฟูของตลาดแท็บเล็ต : ตลาดแท็บเล็ตที่มีมานานถูกสั่นสะเทือนด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความสำเร็จอย่างงดงามของไอแพด ผู้ผลิตหลายเจ้าพยายามคาดเดาว่าลูกค้าต้องการอะไรในแท็บเล็ตและออกแท็บเล็ตมาสู้กับแอปเปิล ขายดีบ้าง แป้กบ้าง เช่น กูเกิลที่ออกแอนดรอยแท็บเล็ต แบล็คเบอร์รี่ออกแบล็คเบอร์รี่เพลย์บุ๊ค ส่วนที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามคืออเมซอนดอทคอมที่ออกแท็บเล็ตตัวแรกคือ “คินเดิล” ซึ่งรุ่นคินเดิล ไฟร์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยขายได้ถล่มทลายกว่าอาทิตย์ละล้านเครื่องหลังจากเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน
อันดับห้า เฟซบุ๊คและพาร์ทเนอร์เพิ่ม “ฟริคชันเลส แชร์ริ่ง” : อะไรที่คุณเรียกเมื่อคนที่คุณรู้จักค้นพบบางสิ่งเกี่ยวกับคุณโดยที่คุณไม่ได้บอกพวกเขา? เฟซบุ๊คเรียกมันว่า“ฟริคชันเลส”ซึ่งเป็นการให้เว็บไซต์และบริการในโลกออนไลน์เผยแพร่กิจกรรมในโลกออนไลน์ของคุณให้เพื่อนๆ โดยอัตโนมัติ จากที่เมื่อก่อนต้องกด “ไลค์”ก่อนถึงจะขึ้นข้อมูลในหน้าเพจ มาทีนี้แค่กดอนุญาตแอพข่าวของสำนักต่างๆ ในเฟซบุ๊ค เมื่อคลิกเข้าไปอ่านเว็บไซต์ข่าวนั้นๆ ข้อมูลก็จะขึ้นบนหน้าเพจโดยทันทีโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย แม้จะมีคนจำนวนมากที่ต่อต้านการเปิดเผยข้อมูลการอ่านซึ่งจะถูกโพสต์ในทันทีบนหน้าเฟซบุ๊คด้วยฟริคชันเลส แต่ซัคเคอร์เบิร์คก็ยังเชื่อว่าผู้คนยังจะเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของตนมากขึ้นทุกปีในโลกออนไลน์
อันดับหก สงคราม ‘สิทธิบัตร’ : บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิ้ล, กูเกิ้ล, เอชทีซี, ไมโครซอฟท์, อาร์ไอเอ็ม, และซัมซุง ต่างฟ้องร้องบริษัทคู่แข่ง เพราะต้องการอ้างความเป็นเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ให้คู่แข่งนำสินค้า เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกันมาวางจำหน่าย
อันดับเจ็ด กูเกิ้ล พลัส : เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้เวลากับเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียล เน็ตเวิร์ค มากกว่าการค้นหาเว็บไซต์ต่างๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ คนหันเล่นเฟซบุ๊ค นานกว่าเข้าเว็บกูเกิ้ลแล้ว ดังนั้น กูเกิ้ล จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแส โดยการเปิด กูเกิ้ล พลัส เป็นโซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่มีความคล้ายคลึงกับเฟซบุ๊ค ทั้งสามารถแชร์ภาพ ค้นหาเพื่อนได้เช่นกัน
อันดับแปด แอปเปิ้ล กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลก : หลังจากสตีฟ จ๊อบส์ หวนกลับมาบริหารแอปเปิ้ลอีกครั้งในปี ค.ศ.1997 ตอนนั้นบริษัทตกต่ำเข้าขั้นล้มละลาย แต่เมื่อขึ้นทศวรรษใหม่ 2000 ซึ่งถือเป็นระยะสั้นๆ จ๊อบส์สามารถนำแอปเปิ้ลให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลก โค่นเอ็กซอน โมบิล กลุ่มธุรกิจน้ำมันที่ผงาดเป็นอันดับ 1 อยู่ก่อนหน้า ไปอย่างน่าประหลาดใจ ที่จู่ๆ บริษัทขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และมือถืออย่างแอปเปิ้ล ก็สามารถทำมูลค่าตลาดแซงบริษัทธุรกิจน้ำมันได้
อันดับเก้า คอมพิวเตอร์เล่นเกมตอบคำถามชนะมนุษย์ : ‘วัตสัน’ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยไอบีเอ็ม สร้างความฮือฮาในเกมโชว์ตอบปัญหาชื่อดัง Jeopardy เพราะวัตสัน สามารถเอาชนะมนุษย์ซึ่งเป็นแชมป์ของรายการยาวนานถึง 74 สมัย และแม้วัตสันจะถูกครหาว่า เป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร ถึงขั้นตอบผิดซ้ำกับมนุษย์ที่ตอบตัวเลือกเดียวกันไปแล้ว แต่สุดท้ายคะแนนรวมสรุปว่า คอมพิวเตอร์ชนะมนุษย์
ส่วนอันดับสิบ ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเพลงดิจิติลโดนถล่ม : ไอจูน ไอพอด ของแอปเปิ้ลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพลงดิจิติล และครองตลาดไว้อย่างแข็งแกร่ง ต้องรับมือกับ 2 คู่แข่งสำคัญ อย่าง สปอติฟาย (Spotify) จากสวีเดนที่เป็นผู้ให้บริการฟังเพลงบนเว็บไซต์ และมีแอพพลิเคชั่นเช่นเดียวกัน แถมยังขอลิขสิทธิ์จากค่ายเพลงต่างๆ ได้อย่างเรียบร้อย โดย สปอติฟาย สามารถตีตลาดได้ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว และคู่แข่งอีกรายก็คือ เฟซบุ๊ค มิวสิก ด้วยเพจที่โชว์ให้เห็นว่า เพื่อนกำลังฟังเพลงอะไรอยู่ ทั้งยังสามารถแนะนำเพลงให้เพื่อนๆ ฟังบ้าง
ที่มา ทีมเดลินิวส์ออนไลน์