นักแสดงชื่อดังจากฮอลลีวูด "แอนเจลีนา โจลี" ที่เปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกของตนเอง ได้รับเสียงชมจากชาวบอสเนีย กับการเสนอภาพอันสมจริงของความขัดแย้งนองเลือดในประเทศ ระหว่างปี 1992 1995 เอเอฟพี - "แอนเจลินา โจลี" ได้ฤกษ์เปิดฉาย In the Land of Blood and Honey ผลงานการกำกับเรื่องแรกของเธอที่บอสเนีย อันเป็นฉากหลังของหนัง ซึ่งเสนอภาพเหตุการณ์นองเลือดระหว่างความขัดแย้งในประเทศเมื่อปี 1992 - 1995
"มันคือหนังที่เสนอภาพความจริงของสงครามที่บอสเนีย" เซกิบ โซโคโลวิช ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ที่ซาเราเยโวกล่าวกับ AFP ในการฉายภาพยนตร์เรื่อง In the Land of Blood and Honey รอบพิเศษที่ประเทศบอสเนีย ขณะที่หนังมีกำหนดลงโรงฉายในสหรัฐฯ เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนในยุโรปจะได้จะดูกันในราวเดือน ก.พ. ปีหน้า
โซโคโลวิช ยังกล่าวถึงผลงานการกำกับของนักแสดงหญิงคนดังแห่งฮอลลีวูดเรื่องนี้อีกว่า "มีคำถามตลอด 20 ปีที่ผ่านมาว่าคนเราฆ่ากันแบบนั้นได้อย่างไร, ความทนทุกข์ทรมานนั่นเอง คือสิ่งที่ผลักดันให้คนเราก่ออาชญากรรม เนื้อหาของหนังที่สื่อออกมาเป็นสิ่งสากล เป็นสารเพื่อยับยั้งไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่ใดอีกในโลก"
In the Land of Blood and Honey สร้างข้อถกเถียงขึ้นในบอสเนียตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี เมื่อสื่อท้องถิ่นตั้งข้อสงสัยว่าหนังอาจจะมีเนื้อหาที่ว่าด้วยความรักระหว่าง หญิงสาวชาวมุสลิม ซึ่งไปตกหลุมรักหนุ่มชาวเซิร์บผู้ข่มขืนเธอนั่นเอง
อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วตัวหนังจริง ๆ ไม่ได้รุนแรงอื้อฉาวถึงขนาดนั้น แต่เล่าถึงคู่รักที่เริ่มสานสัมพันธ์กันตั้งแต่ก่อนสงครามจะเริ่มต้น และได้พบกันอีกครั้งเมื่อฝ่ายหญิงตกเป็นเชลยในเรือนจำของค่ายทหาร ซึ่งคนรักเก่าของเธอเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่
หนังของ โจลี เล่าเรื่องของคู่รักที่เริ่มต้นคบหากันก่อนสงครามจะเริ่มต้น และได้พบกันอีกครั้งเหมือฝ่ายหญิงถูกควบคุมตัวในคุกของหน่วยทหารเซิร์ป ที่มีอดีตคนรักของเธอเป็นผู้บังคับบัญชา
แม้ชายหนุ่มจะพยายามปกป้องหญิงคนรัก แต่สุดท้ายเขาต้องถูกย้ายไปประจำการที่อื่นแทน และหญิงสาวตัวเอกของเรื่องต้องเผชิญกับชะตากรรมการถูกทำร้าย และข่มขืน ด้วยน้ำมือของทหารเช่นเดียวกับหญิงสาวเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในสงครามคนอื่น
แม้เนื้อหาของหนังจะไม่ได้รุนแรงต้องห้ามขนาดที่หลายฝ่ายเกรงกลัวกัน แต่ In the Land of Blood and Honey ยังคงเต็มไปด้วยฉากการข่มขืน, ฆ่าแกง และการกระทำอันเลวร้าย เพื่อสะท้อนถึงอาชญากรรมในสงคราม โดยเหล่านักแสดงที่เป็นคนท้องถิ่น
ซานา มาเรียโนวิช นักแสดงสาวชาวซาราเยโว ที่รับบทนำกล่าวถึงบทบาทของตนเองว่า "แอนเจลีนา โจลี มอบโอกาสสำคัญอย่างยิ่งให้กับฉัน ในการเป็นปากเป็นเสียงของผู้หญิงเหล่านั้น ที่ต้องเผชิญชีวิตในห่วงแห่งความสยดสยองของสงครามบอสเนีย"
ส่วน บอริส เลอร์ นักแสดงชาวซาราเยโวอีกคน ผู้รับบทเป็นทหารของฝ่ายบอสเนียมุสลิม ก็เอ่ยปากถึงหนังเรื่องนี้ว่า "หนังเสนอภาพความจริงที่ผู้หญิงต้องถูกข่มเหง, การฆ่าล้างประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นกระทั่งเด็ก ๆ ..."
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบอสเนียประมาณการว่ามีผู้หญิงประมาณ 20,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามต้องถูกล่วงละเมิดทางเพศระหว่างสงครามบอสเนีย และหากจะนับรวมในความขัดแย้งของเหล่าประเทศบัลข่านทั้ง โครแอต, มุสลิม และเซิร์บ ตัวเลขก็อาจจะพุ่งขึ้นไปเป็น 100,000 คน
ซึ่งแม้หนังจะถูกต่อต้านในช่วงต้น แต่ชาวบอสเนียหลายคนที่ได้ชม In the Land of Blood and Honey ไปแล้วยังออกปากชมเชยถึงการเสนอภาพของความโหดร้ายในสงคราม ที่เปลี่ยนเพื่อนบ้านและสหายให้กลายเป็นศัตรูในพริบตา
In the Land of Blood and Honey ยังคงเต็มไปด้วยฉากการข่มขืน, ฆ่าแกง และการกระทำเพื่อสะท้อนถึงอาชญากรรมในสงครามต่าง ๆ จากเหล่านักแสดงที่เป็นคนท้องถิ่น
"มันจะเป็นบทเรียนของคนรุ่นต่อไป ทั้งพลเมืองของบอสเนีย และอดีตชาวยูโกสลาเวีย" เซอิด คาริช วัยเกษียณอายุกล่าว ส่วน อัดนัน เวอิซ อายุ 28 ปี ก็แสดงความเห็นว่า "หนังเร้าอารมณ์อย่างยิ่ง ผมชอบนะ แต่การชมหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งหนักหาสาหัสเอาการอยู่เหมือนกัน มันทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น"
ในสายตาของผู้แสดงนำอย่าง มาเรียโนวิช ได้แสดงความเห็นว่าหนังตั้งคำถามถึงประเด็นที่ว่าสงครามได้เปลี่ยนผู้คนไปอย่างไร ผลกระทบต่อพวกเขา และยังแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์อันยากลำบากในการดำรงความเป็นมนุษย์เมื่อสถานการณ์แวดล้อมดำดิ่งลงไปสู่ความเลวร้ายสุดขีด "แต่ละตัวละครจะมีพื้นหลังของตัวเอง ไม่มีใครขาวจัดหรือดำจัด หนังไม่ได้พยายามจะตัดสินอะไร เพียงบอกถึงเหตุที่เกิดขึ้นเท่านั้น"
นักแสดงชาวบอสเนียเล่าว่า โจลี พยายามมากที่จะเล่าเรื่องจากสองฝั่ง ทั้งชาวบอสเนียเชื้อสายมุสลิม และบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ แต่นักวิจารณ์บางคนกลับวิจารณ์ว่าหนังแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าใครเป็นคนดีและคนเลวกันแน่
วาเนซา กลอดโจ วัย 37 ปี นักแสดงชาวบอสเนียอีกคนที่ได้ร่วมงานในหนัง เผยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามบอสเนียเป็นสิ่งที่ "จับใจ" ของ โจลี "เธอแสดงออกอย่างชัดเจน ว่าจะเล่าเรื่องของสงครามด้วยความเป็นคนนอก เป็นมุมมองที่ปราศจากอคติ และให้ภาพอย่างสมบูรณ์แบบของเรื่องราวที่เราเคยใช้ชีวิตผ่านมันมา ซึ่งฉันเชื่อว่า นี่คือเหตุผลซึ่งทำให้หนังสมบูรณ์แบบ และน่าเชื่อถือ"
กลอดโจ ผู้เคยได้รับบาดเจ็บ และใช้ชีวิตในเมืองหลวงของบอสเนียระหว่างช่วง 44 เดือนของสงครามยังกล่าวอีกว่า "เราทุกคนนำประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดใส่ไปในหนัง อาจจะเรียกได้ว่าทุกคน ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในแนวหน้าของซาราเยโว ระหว่างสงคราม ได้มองเห็นการจากไปของคนหนุ่ม, ความทุกข์แสนสาหัสของแม่ที่เสียลูก ๆ ไป"
ที่มา: manager.co.th