'ประวิทย์' แนะวิธี Do & Don’t หากคิดสมัครใช้บริการโรมมิ่ง เตือนอย่าวางใจ มาตรการจำกัดวงเงินเพราะข้อมูลช้า เผยเหยื่อ Bill Shock ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ นักเรียนนักศึกษา และนักท่องเที่ยว
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคกรณีปัญหาการคิดค่าบริการระหว่างประเทศจากการใช้บริการโรมมิ่ง พบว่า สาเหตุหลักๆมี 2 ประการคือ ผู้ใช้บริการไม่ทราบเงื่อนไขการใช้บริการ เช่น อัตราค่าโทรออกและรับสาย ไม่ทราบปริมาณข้อมูลที่ใช้ไปจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และ ผู้ใช้บริการไม่ทราบระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่ โดยเฉพาะการไม่ทราบว่า สมาร์ทโฟนมีการเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติตลอดเวลา
หากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือต้องการสมัครใช้บริการโรมมิ่ง สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ ศึกษาข้อมูลการใช้บริการจากเว็บไซต์ผู้ให้บริการ ศึกษาค่าใช้จ่าย โดยสอบถามรายการการคิดค่าบริการจากผู้ให้บริการ จากนั้นแจ้งกับเครือข่ายผู้ให้บริการเพื่อเปิดบริการที่ต้องการใช้ และปิดบริการที่ไม่ต้องการใช้ ที่สำคัญที่สุดคือจดจำชื่อเครือข่ายและชื่อที่แสดงบนมือถือของเครือข่ายที่อยู่ในแพ็คเกจที่สมัคร และเมื่อเดินทางไปถึงต้องตั้งค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายตามแพ็คเกจที่สมัคร พร้อมทั้งปิดการรับสัญญาณแบบอัตโนมัติ
"บริการโรมมิ่งมีทั้งในรูปแบบเสียง ข้อความ ข้อมูล ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้ บริการเหล่านี้ได้ โดยเลือกสมัครเฉพาะบริการและปิดในบริการที่ไม่ต้องการใช้ หรือเลือกสมัครทั้งหมดรวมถึงปิดบริการทั้งหมดได้ โดยผู้ใช้บริการแบบรายเดือนต้องสมัครก่อนใช้และการสมัครจะมีผลตลอดไป ยกเว้นแจ้งขอปิดบริการ ส่วนผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน ผู้ให้บริการบางรายอาจเปิดบริการโรมมิ่งในบางประเภทให้โดยไม่ต้องสมัคร จึงควรสอบถามกับเครือข่ายผู้ให้บริการ และอย่าวางใจว่าวิธีการจำกัดวงเงินสูงสุดหรือ Cap Max ของผู้ให้บริการ จะช่วยจำกัดค่าใช้จ่ายให้ได้ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าของการรายงานข้อมูลการใช้บริการระหว่างเครือข่ายต่างประเทศและผู้ให้บริการของไทยอยู่ จึงพบว่ามีผู้ร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ได้จำกัดวงเงินสูงสุดไว้แต่ยังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจำนวนวงเงินที่จำกัด"
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.54 ถึง พ.ย.54 กสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคิดค่าบริการระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการใช้บริการโรมมิ่งจำนวน 46 กรณี รวมเป็นค่าบริการที่ถูกโต้แย้งเป็นจำนวนเงินราว 2 ล้านบาท และ ยอดสูงสุดที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติประมาณ 3 แสนบาท โดยกลุ่มที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ พนักงานบริษัทที่นำเลขหมายของบริษัทไปใช้ในต่างประเทศ นักเรียน นักศึกษา ที่ไปเรียนหนังสือ หรือท่องเที่ยวระยะสั้นๆ รวมถึงบุคคลที่มีญาติหรือสามีเป็นชาวต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้บริการจึงควรทราบเงื่อนไขการให้บริการและศึกษาระบบเครื่องโทรศัพท์ให้ดีก่อน
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th