โตชิบา รับน้ำท่วมส่งผลกระทบไตรมาสสุดท้ายเต็มๆ แต่ภาพรวมทั้งปียังเติบโต 20% เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1-3 มีผลประกอบการดีมาโดยตลอด ส่วนธุรกิจฮาร์ดดิสก์คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า พร้อมวางเป้าสิ้นปีหน้าส่วนแบ่งตลาด 15% ในตลาดโน้ตบุ๊ก
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ในช่วงประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับราคาสินค้า และไม่ย้ายฐานการผลิต แต่อาจมีการนำชิ้นส่วนการผลิตจากต่างประเทศเข้า
"หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เริ่มขาดตลาดจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อาจต้องนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน ส่วนโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนผลกระทบเชื่อว่าจะกลับมาเปิดได้ในช่วงเดือนมีนาคม"
นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจไอที ที่กระทบหนักสุดคือส่วนของฮาร์ดดิสก์ที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าไปประเมินความเสียหาย และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555
"ช่วงที่โรงงานฮาร์ดดิสก์หยุดการผลิตนั้น ทำให้ตลาดฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกเริ่มขาดตลาด เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ถึง 40% ของทั่วโลก ยังไม่นับรวมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการผลิตฮาร์ดดิสก์ของไทยกว่า 80%"
ซึ่งกำลังการผลิตของโรงงานฮาร์ดดิสก์ที่นวนครนั้นมากกว่า 10 ล้านยูนิต คิดเป็น 60% ของไลน์การผลิตฮาร์ดดิสก์ของโตชิบา ส่วนอีก 40% เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายโรงงานการผลิตไปยังประเทศอื่น
"ที่ต้องดูกันต่อไปไม่ใช่การย้ายฐานการผลิต แต่ต้องดูว่าต่างประเทศยังจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มหรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ทางภาครัฐต้องเข้ามาช่วยในการวางแผนป้องกันน้ำ รวมถึงการสื่อสารไปยังต่างประเทศให้เห็นว่าประเทศไทยยังน่าลงทุนอยู่"
ในส่วนของโน้ตบุ๊กที่ล่าสุดทางไอดีซีได้ประเมินว่าจะมียอดขายลดลง 30% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนั้น ทางโตชิบาก็มียอดลดลงไปใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม ยอดขายลดลงไปถึง 50% แต่ถ้ามองในภาพรวมตลาดโน้ตบุ๊กทั้งปีโตชิบามีอัตรการเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
"ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ผลประกอบการของโตชิบาเติบโตขึ้นตลาด จึงทำให้ภาพรวมทั้งปีได้รับผลกระทบไม่มาก ส่วนในปีหน้าทางบริษัทแม่ตั้งเป้ามาแล้วว่าจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 15% หรือคิดเป็นรายได้เติบโตราว 17-18%"
โดยในปีนี้โตชิบาคาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งหมดในธุรกิจไอทีประมาณ 4 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 4.5 พันล้านบาท ส่วนในปีหน้าตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 5 พันล้านบาท โดยแบ่งงบในการทำตลาดไว้ประมาณ 300 ล้านบาท
ปัจจุบันโตชิบามีส่วนแบ่งในตลาดโน้ตบุ๊กราว 9 − 10% โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งสัดส่วนใหญ่ของโน้ตบุ๊กกว่า 40% จะอยู่ที่ราคาต่ำกว่า 15,000 บาท ทำให้โตชิบาต้องโฟกัสในตลาดนี้มากขึ้น เนื่องจากมีแชร์ในส่วนนี้เพียง 5%
"ปีหน้าอาจจะต้องมีการเพิ่มรุ่นโน้ตบุ๊กในช่วงราคาต่ำกว่า 15,000 บาทเข้ามาอีก 3-4 รุ่น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในกลุ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าอัลตร้าบุ๊กที่เป็นเครื่องบางเบา ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะผู้บริโภคมีความต้องการอยู่แล้ว"
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายร้านค้าเพิ่มขึ้น จาก 28 ร้านค้าในปัจจุบัน เพิ่มอีก 12 ร้านค้าตามหัวเมืองต่างจังหวัด โดยปัจจุบันสัดส่วนการจำหน่ายโน้ตบุ๊กของโตชิบาอยู่ในกรุงเทพฯ 65% และต่างจังหวัด 35% และเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าจากที่มีประมาณ 1,000 จุดในปัจจุบันเป็นราว 1,300 จุด คิดเป็น 30% รวมกับการรุกไปยังตลาดโมเดิร์นเทรนด์ด้วย
Company Relate Link :
Toshiba
ที่มา: manager.co.th